Photography Notes: #1 ว่าด้วยเรื่องของไฟล์ RAW

Photography-Notes-1-banner

บทความนี้เป็นบทความที่ผมตั้งใจจะให้มันเป็นซีรี่ส์ยาวๆ เหมือนกับว่าผมอยากจะเขียนอะไรก็เขียน (เอาแต่ใจจริงๆ -*-) เนื่องจากหมวดเทคนิคการถ่ายภาพมันนิ่งมานานแล้ว อีกอย่างเป็นการทวนความจำของผมไปในตัวด้วย ^^

เดี๋ยวนี้กล้องดิจิตอลหลายๆ รุ่นจะรองรับการเซฟภาพด้วยฟอร์แมตคือ jpeg ซึ่งจะมีให้เลือกปรับในกล้องกันหลายความละเอียด ตั้งแต่แบบเล็กสุดๆ จนถึงขนาดสูงสุดที่กล้องจะมีให้ และจะมีไฟล์อีกประเภทหนึ่งคือฟอร์แมต raw ที่กล้องรุ่นใหม่ๆ จะมีให้เลือกปรับ โดยเฉพาะกล้อง DSLR รุ่นแรกๆ จนถึงปัจจุบัน รวมถึงกล้อง compact รุ่นใหม่ๆ ในปัจจุบันก็จะมีให้ปรับด้วย

แม้แต่กล้อง compact รุ่นใหม่ๆ ก็รองรับ raw file
แม้แต่กล้อง compact รุ่นใหม่ๆ ก็รองรับ raw file

raw แค่ดูจากชื่อก็รู้กันอยู่แล้ว แปลกันห้วนๆ ก็แปลว่าดิบนั่นละ ซึ่งไฟล์ประเภทนี้ก็คือไฟล์ดิบจริงๆ ที่ได้มาจากเซ็นเซอร์ของกล้องโดยตรงโดยไม่ผ่านกระบวนการประมวลผลของกล้องมาก่อนเหมือนไฟล์ jpeg คือได้จากเซ็นเซอร์มายังไงก็เซฟลงเมมโมรี่การ์ดไปเลย

นอกจากนี้ไฟล์ raw ยังเป็นไฟล์ประเภท lossless ที่แทบไม่สูญเสียข้อมูลในการบีบอัดเลย ต่างจาก jpeg ที่จะเป็นไฟล์ประเภท lossy ที่มีการลดทอนข้อมูลบางส่วนของไฟล์ออก เพื่อที่ขนาดของไฟล์นั้นจะได้ลดลง ซึ่งกระบวนการผมคงไม่กล่าวถึงในบทความนี้

ส่วนตัวแล้วผมเล่นกล้อง DSLR มาปีกว่าๆ ผมถ่ายรูปด้วยไฟล์ raw มาแทบจะตลอด (ตอนผมซื้อกล้องมาใหม่ๆ เมมโมรี่อาจจะไม่พอ สมัยนั้นอาจจะยังถ่าย jpeg อยู่) เหตุผลที่ผมใช้ฟอร์แมตนี้ก็คือมันมีข้อดีหลายอย่างเฉกเช่น

  • ไฟล์ raw เป็นไฟล์ดิบที่เราต้องนำมาโปรเซสอีกครั้ง เปรียบเหมือนดั่งพวกฟิล์มเนกาทีฟ ที่เราต้องนำมันไปล้างเสียก่อนถึงจะได้รูปตามที่ต้องการ ซึ่งไม่ต่างอะไรกับ raw ที่ผมเรียกว่ามันเป็นฟิล์มเนกาทีฟในยุคดิจิตอล
  • เหตุผลเนื่องจากข้อแรก ฉะนั้นข้อมูลจะได้ตรงตามต้นฉบับทุกประการ ไม่ถูกกล้องปรุงเสริมแต่งให้เสียความละเอียดออกไป ถึงแม้ว่าจะปฏิเสธกันไม่ได้ว่ากล้องเดี๋ยวนี้มีความสามารถในการประมวลผลไฟล์ jpeg ได้ดีมาก แต่ผมว่ายังไงมันก็มีส่วนที่หายไปอยู่ดีนั่นละ
  • ไฟล์ raw มี dynamic range ที่ดีกว่าเนื่องจากรองรับความแตกต่างของสีได้มากถึง 12-14 บิท (ขึ้นอยู่กับเซ็นเซอร์กล้อง) ต่างจากไฟล์ jpeg ที่รองรับเพียง 8 บิท ซึ่งระดับความสว่างที่รองรับนี่ถือว่าต่างกันเยอะเลยครับ ระหว่าง 256 ระดับและ 4096, 16384
  • ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงเรื่อง white balance ในการถ่ายภาพ เพราะเราสามารถปรับแต่งอุณหภูมิสีได้ภายในตัวโปรแกรมครับ ฉะนั้นที่กล้องผมปรับ auto ไว้ตลอดโดยแทบไม่ต้องไปกังวลเรื่องนี้
  • สืบเนื่องจากความยืดหยุ่นของไฟล์ ทำให้เราสามารถแก้ตัวได้หากเราถ่ายพลาดเช่นแสงอันเดอร์หรือโอเวอร์เกินไป เราสามารถดึงแสงกลับมาได้พอสมควรโดยที่ภาพไม่สูญเสียรายละเอียดมากนัก เท่าที่ผมดูนี่ดึงกลับมาแบบเซฟๆ ก็ได้ประมาณสองสตอปเลย แต่ถ้าอันไหนพลาดเกิน (โอเวอร์จัด) ก็ทำใจกับรูปเสียหน่อยละกัน แต่ยังไงดีกว่าเอาไฟล์ JPEG มาปรับแน่นอนครับพี่น้อง
  • คุณภาพของไฟล์ raw ขึ้นอยู่กับโปรแกรมที่นำมาโปรเซสด้วย ซึ่งปัจจุบันโปรแกรมแต่งรูปหลายๆ ตัวนั้นมีการพัฒนาอัลกอริทึมให้โปรเซสไฟล์ raw ได้ดีขึ้นเรื่อยๆ ส่วนนึงก็เพราะคอมพิวเตอร์ปัจจุบันประสิทธิภาพสูงจึงสามารถโปรเซสได้เร็วขึ้นและเอื้อต่อการโปรเซสที่สลับซับซ้อนกว่าเดิม หมายความว่ารูปแห่งความประทับใจที่เก็บไว้จะยังคงสามารถพัฒนาขึ้นได้เรื่อยๆ ตามความสามารถของโปรแกรมครับ เพราะเหมือนเราเอาฟิล์มมาล้างกับน้ำยาที่ดีขึ้นเรื่อยๆ
raw file ปรับแต่งรูปได้ค่อนข้างยืดหยุ่นพอสมควร
raw file ปรับแต่งรูปได้ค่อนข้างยืดหยุ่นพอสมควร

แต่บนข้อดีเยอะแยะเช่นนั้น ใช่ว่าจะไม่มีข้อเสียครับ ข้อเสียที่ผมสังเกตได้เลยคือ

  • ไฟล์ใหญ่มากกกก ขนาดจะใหญ่กว่า jpeg สามเท่าเห็นจะได้ ฉะนั้นเราต้องมีพื้นที่ในการเก็บทั้งในเมมโมรี่ และคอมพิวเตอร์พอสมควร แต่จะไปกลัวอะไรละครับ ปัจจุบันราคาถูกลงมาก เมมโมรี่แปดกิ๊กราคาไม่เกินเจ็ดร้อยบาท สามารถเก็บภาพ raw ได้ประมาณห้าร้อยภาพ
  • ด้วยขนาดที่ใหญ่ ทำให้การเก็บรูปลงเมมโมรี่ทำได้ช้าลง หมายความว่าบัฟเฟอร์ของกล้องก็จะเต็มเร็วขึ้น ทำให้เราถ่ายภาพต่อเนื่องได้น้อยลง เป็นปัญหาใหญ่สำหรับกล้องรุ่นเก่าๆ หรือการถ่ายงานอีเว้นต์ที่รัวยิกๆ มันจะเซฟลงเมมไม่ทันครับ
  • ต้องนำมาโปรเซสทุกครั้งก่อนที่จะนำไปแจกจ่ายหรืออัพลงเว็บ หากผมจะแจกไฟล์ให้เพื่อนหรือคนอื่นๆ ผมไม่สามารถแจกได้ทันที จำเป็นที่จะต้องโปรเซสก่อน แต่วิธีแก้ก็ง่ายๆ คือไปปรับให้เซฟสองฟอร์แมตลงไปพร้อมกันเสียเลยก็สิ้นเรื่อง
  • ยังไม่เป็นมาตรฐานกลางเท่าที่ควร เพราะปัจจุบันจริงๆ มีนามสกุลที่กำลังอยู่ในกระบวนการยกเป็นมาตรฐานอยู่ก็คือ .dng (digital negative) ของทาง Adobe นั่นเอง แต่กล้องหลายๆ ค่าย โดยเฉพาะค่ายใหญ่อย่าง Nikon, Canon ก็ยังไม่ลงมาเล่นเช่นเดิม ยังคงใช้ฟอร์แมตของตนเองต่อไป แต่ก็ไม่แน่หากอนาคตของ .dng ไปได้สวย ก็จะทำให้ raw format มีความเป็นมาตรฐานและพัฒนาไปได้รวดเร็วกว่าเดิมครับ

ฉะนั้นความคิดเห็นของผมเองผมจึงถ่าย RAW มาแทบจะตลอดเวลาด้วยเหตุผลข้างต้น ส่วนนึงคือผมไม่ได้ซีเรียสในด้านการโปรเซสภาพอยู่แล้วละครับ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ถึงแม้ว่า raw จะทำให้เรามีความยืดหยุ่นในการปรับแต่งมากขึ้น แต่สุดท้ายแล้ววิธีที่ดีที่สุดคือการใส่ใจตั้งแต่การกดชัตเตอร์ครับ เพราะถึงแม้ว่าบางอย่างจะมาแก้ไขได้ภายหลัง แต่พวกการจัดองค์ประกอบนี่พลาดแล้วพลาดเลยนะครับพี่น้อง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *