ความสามารถของสมองกับการเล่นเกม ?

หลายคนที่เข้ามาอ่านในบล็อกของผมส่วนมากแล้ว น่าจะเป็นเกมเมอร์รุ่นเก่าที่เคยผ่านเกมยุคเก่าๆ อย่างในยุคแฟมิคอมหรือเก่ากว่านั้น ซึ่งสมัยนั้นเกมยังไม่มีความซับซ้อนมากเหมือนดั่งสมัยนี้ แต่เราก็ยังคงเล่นได้ชนิดติดหนึบระดับที่ว่าไม่หลับไม่นอนกันเลยว่างั้น แต่คุณๆ อาจจะไม่เคยสังเกตเลยว่า ในยุคปัจจุบัน เกมมีความสมจริงมากขึ้นกว่าเดิม แต่สิ่งที่ตามมาคือระดับความยากของเกมที่ง่ายกว่าเมื่อก่อนเยอะ ทำให้คนเล่นเกมส่วนมากเข้าถึงได้ง่ายขึ้นด้วย ถ้าเป็นสมัยก่อนละก็แทบไม่ต้องพูดกัน เป็นเครื่องอาเขตก็หยอดกันจนหมดตูด หรือถ้าเล่นที่บ้านก็คอนทินิวแล้วคอนทินิวอีกอยู่นั่นละ

ก่อนหน้านี้ได้มีการวิจัยค้นคว้าเกี่ยวกับกระบวนการคิด จิตวิทยา หรือระบบประสาท ได้บ่งชี้ออกมาว่าความสามารถในการเล่นเกมของผู้เล่นระดับหน้าใหม่ (novice) จนไปถึงระดับผู้เชี่ยวชาญ (expert) เป็นสิ่งที่มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง รวมถึงการวิจัยที่ผ่านมายังชี้อีกด้วยว่า ระดับสกิลในการเล่นเกมของแต่ละบุคคลเป็นสิ่งที่ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิดและไม่สามารถพัฒนาให้เท่าเทียมผู้เล่นระดับบนได้อีกด้วย

และล่าสุดนี้ก็มีการวิจัยต่อยอดเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้ ได้พบอีกว่าความเกี่ยวข้องทางด้านบนนั้นเกิดจากสามส่วนในสมองคือ

  • caudate nucleus
  • putamen
  • nucleus accumbens

ซึ่งในการทดสอบนั้น ได้ทำการทดลองโดยอาสาสมัครซึ่งเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดีจำนวน 39 คน (ผู้ชาย 10 คน, ผู้หญิง 29 คน) ซึ่งบุคคลเหล่านี้เป็นคนที่เล่นเกมน้อยกว่า 3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ในช่วงที่ผ่านมาสองปี เข้ามาทำการทดสอบโดยใช้เกม Space Fortress ซึ่งเป็นเกมที่เอาไว้ทดสอบด้านนี้โดยเฉพาะ ปรากฎว่ามีผู้ทดสอบเพียง 10 คนเท่านั้นที่สามารถทำคะแนนไปได้ถึงระดับสูงสุดได้อย่างง่ายๆ ส่วนที่เหลือจะต้องใช้ความพยายามสูงหน่อยที่จะต้องพัฒนาในด้านต่างๆ เพื่อที่จะทำให้ได้คะแนนสูงขึ้น ซึ่งจากการวิจัยได้สรุปมาว่า ผู้ที่มี nucleus accumbens ใหญ่จะสามารถเรียนรู้ช่วงต้นเกมได้รวดเร็วและดีเยี่ยม ส่วนผู้ที่มี caudate nucleus และ putamen ใหญ่กว่าจะสามารถเล่นเกมได้ดีในการทดสอบที่แตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล

Kirk Erickson หัวหน้าทีมศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ให้เหตุผลเกี่ยวกับการวิจัยข้างต้นว่า สมองส่วน nucleus accumbens จะเชื่อมต่อกับศูนย์กลางการได้รับรางวัล (reward center) ของสมอง ที่จะช่วยส่งเสริมกำลังใจในการเล่นเกมของบุคคลนั้นๆ ให้ดียิ่งขึ้น ส่วน caudate nucleus และ putamen มีส่วนต่อกระบวนการเรียนรู้ ความสามารถ ซึ่งผู้ที่มีส่วนนี้ใหญ่ที่สุดสามารถเรียนรู้ในช่วงเวลา 20 ชั่วโมงแรกของการเล่นเกมได้อย่างรวดเร็วและมากกว่าคนอื่นๆ ซึ่งการวิจัยนี้ก็ได้บ่งบอกว่าสมองของเราทำงานอย่างไร เมื่อต้องเจอกับกระบวนการคิดที่ซับซ้อนกว่าคนอื่นๆ

ผมเชื่อว่าทุกคนต้องมีเกมที่ตัวเองถนัดเป็นหลักอยู่ทุกคนอยู่แล้ว ซึ่งการวิจัยที่ผมหาข้อมูลมาให้ท่านๆ อ่านกันก็น่าจะพอทราบอะไรบางอย่างเกี่ยวกับสมองของเราครับ

Source: Ars Technica , Oxford Journals , Wikipedia
Images: Flickr , Oxford Journals

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *