จาก DOTA จนถึง Dota 2 จากม็อดเล็กๆ สู่เกมฟอร์มยักษ์

DOTA

สมัยนี้เราก็เห็นกันอยู่ ว่าเกมแนวใหม่ๆ ไม่ค่อยมีโผล่ออกมาให้เห็นกันสักเท่าไหร่ จะเรียกว่าวงการเกมยังคงอยู่กับแนวเดิมๆ ไม่ค่อยมีอะไรเปลี่ยนแปลงก็คงจะพูดได้สักระดับนึง แต่จะมีสักกี่เกมกันที่เริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆ เข้ามาจนสุดท้ายนั้นประสบความสำเร็จได้ในวงกว้าง หากพูดถึงสมัยประมาณสักสิบปีที่แล้วไม่ต้องสงสัยเลยว่า Counter-Strike นั้นกินเวลาช่วงนั้นของพวกเราไปมากขนาดไหน ซึ่งก็เริ่มจากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของเหล่า modder เช่นกันจนสุดท้ายก็กลายเป็นเกมขึ้นหิ้งและเป็นบรรทัดฐานใหม่อีกอันให้กับวงการเกมยิงทั่วโลกและยังเล่นกันอยู่จนถึงปัจจุบัน แต่สำหรับช่วงยุคหลังๆ สี่ห้าปีที่ผ่านมานี้คงมีน้อยคนนักที่จะไม่รุ้จัก DOTA (Defense of the Ancients)

ผมเป็นคนนึงที่ไม่ค่อยได้ติดตามซีรี่ส์นี้สักเท่าไหร่ ทั้งๆ ที่คนรอบตัวผมก็เล่นกันค่อนข้างเยอะ แต่เห็นแล้วถือว่าเป็นปรากฎการณ์ที่น่าสนใจดีอีกอย่างของวงการเกมในปัจจุบันนี้เลยขอค้นคว้าหาข้อมูลต่างๆ มาเพื่อเขียนบทความสักหน่อยว่ามันมีที่มาอย่างไรบ้าง

DOTA เรียกว่าเป็นแนวใหม่ที่รวมลักษณะการเล่นเกมระหว่างแนว RTS เข้ากับความเป็น RPG ภายในตัวจนเรียกว่าเป็นเกมแนวใหม่อีกแนวที่ถูกเรียกกันว่า MOBA (Multiplayer Online Battle Areana) แท้จริงแล้วต้องว่ากันถึงแผนที่ตัวนึงของ StarCraft ที่มีชื่อว่า Aeon of Strife ที่มีรูปแบบการเล่นที่แตกต่างออกไปไม่เหมือนกับเกมปกติที่เราเล่นๆ กันในสมัยนั้น กล่าวคือตัวเกมแทนที่เราจะต้องสร้างสิ่งก่อสร้าง ปั๊มยูนิตออกมาสู้กันเหมือนเกม RTS ทั่วๆ ไปแต่มาแผนที่ตัวนี้จะผิดแปลกออกไปก็คือเราจะได้บังคับตัวละครแค่ตัวเดียวเท่านั้น ส่วนอื่นๆ เช่นสิ่งก่อสร้างจะเป็นหน้าที่ของ AI ทั้งหมดโดยที่เราไม่ต้องไปยุ่งเลย หน้าที่ของเราก็คือตีฐานศัตรูอีกฝั่งให้แตกโดยผ่านเส้นทางสามเส้นทาง เมื่อเข้าถึงอีกฝั่งก็จะมีป้อมปืนฝั่งตรงข้ามคอยสกัด unit ที่ทาง AI ฝั่งเรานั้นสร้างออกมาเป็นชุดๆ ในระยะเวลานึง อ่านดูแล้วการเล่นแบบนี้คล้ายๆ เกมประเภท tower defense แต่ก็เป็นการเปรียบเทียบที่ไม่ค่อยสมเหตุสมผลเท่าไหร่

 

Aeon of Strife จุดเริ่มต้นของ DOTA
Aeon of Strife จุดเริ่มต้นของเกมแนว MOBA

 

จุดเด่นของ Aeon of Strife คือการโฟกัสการควบคุมไปอยู่ที่ตัวละครเพียงตัวเดียว ตัดพวกระบบ micro management ออกไปทำให้หน้าที่ของเรานั้นเหลือเพียงแค่การสนับสนุน AI และทำลายฝั่งตรงข้ามให้สิ้นซากเท่านั้น

หลังการวางจำหน่ายของ Warcraft III ในปี 2003 มี modder ผู้หนึ่งชื่อว่า Eul ได้สร้างแผนที่ที่คล้ายกันกับ Aeon of Strife ขึ้นมาและตั้งชื่อว่า DOTA (Defense of the Ancients) จุดเด่นของม็อดตัวนี้คือการรองรับผู้เล่นได้ถึง 10 คน และมีการใส่ความเป็น RPG ลงไปในตัวเกมด้วยเช่นแต่ละตัวละครสามารถใช้ความสามารถพิเศษ ซื้ออาวุธ รับประสบการณ์เพิ่ม (เพื่อปลดล็อคความสามารถที่สูงกว่า) แต่หลังจากออกได้ไม่นาน Eul ก็ได้หยุดการพัฒนาและมี modder คนอื่นมาช่วยพัฒนาต่อแทน ซึ่งคนที่มีชื่อเสียงที่สุดก็คงหนีไม่พ้น Steve Feak หรือที่รู้จักกันดีในนามแฝง Guinsoo

Guinsoo เริ่มพัฒนา DOTA: Allstars ด้วยการจับความสามารถเด่นๆ ของม็อดตัวอื่นมารวมกันรวมถึงเพิ่มของตัวเองลงไปด้วยเช่นการเพิ่ม monster ที่เป็นกลางเข้าไปในแผนที่ ฮีโร่ใหม่ๆ รวมถึงไอเท็มพิเศษอีกจำนวนมาก หลายชิ้นไม่สามารถหามาได้ด้วยวิธีธรรมดา ต้องใช้การผสมไอเท็มหลายชนิดรวมกันเพื่อให้ได้ไอเท็มประสิทธิภาพสูงมาใช้ นอกจากนี้ Guinsoo ยังร่วมกับ Steve “Pendragon” Mescon โดยที่ Pendragon รับหน้าที่ในการสร้างฟอรัมเพื่อเป็นศูนย์รวมผู้เล่นทั่วโลกไว้ด้วยกันเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ต่างๆ รวมถึงรับ feedback เพื่อนำมาใช้ในการปรับปรุงตัวเกมให้มีความสมดุลมากยิ่งขึ้น

หลังจากเวลาผ่านไปสองปี Guinsoo ก็ได้ส่งมอบม็อดตัวนี้ให้ modder ผู้หนึ่งรับไปพัฒนาต่อนั่นก็คือ Abdul “IceFrog” Ismail เขานั้นรู้ดีว่า StarCraft และ Warcraft นั้นมีจุดเด่นอยู่ที่ความสมดุลของตัวเกม ดังนั้นเขาจึงปรับแต่งตัวเกมอย่างระมัดระวังเพื่อให้มีความสมดุลมากที่สุด แทนที่จะเพิ่มแผนที่ใหม่ๆ เข้าไปในตัวเกมเหมือนเช่นเกมอื่นๆ เขาทำกันแต่ IceFrog เน้นโฟกัสไปที่แผนที่เดียวและเน้นปรับให้ตัวเกมมีความสมดุลมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ในขณะเดียวกันเวลาผ่านไปไม่นานก็มีจำนวนสมาชิกในฟอรัมของ Pendragon สูงถึง 1.5  ล้านคน ด้วยจำนวนสมาชิกที่มากขนาดนี้ทำให้ DOTA กลายเป็นม็อดที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วจากสังคมผู้เล่น เช่นมีการเทสบอทใหม่ๆ หรือเพิ่มอาร์ตเวิร์คสวยๆ เข้าไปในตัวม็อด นอกจากนี้ยังกลายเป็นเกมที่ผู้แข่งขันเกมนิยมใช้แข่งในทัวร์นาเม้นท์ทั่วโลกอีกด้วย รวมถึงวงดนตรีชื่อดังของสวีเดนก็ยังเอาไปใช้เป็นชื่อเพลง

ในปี 2008 หลังผ่านการปรับเปลี่ยนมาไม่รู้กี่รอบ DOTA กลายเป็นม็อดที่มีความเป็นเฉพาะตัวและประสบความสำเร็จสูงมากในวงกว้างโดยไม่ได้รับการสนับสนุนใดๆ จากผู้พัฒนาเกม ด้วยเหตุนี้การที่จะผลักดันเกมนี้ให้กลายเป็นธุรกิจดูชัดเจนขึ้นมากขึ้นเรื่อยๆ จนในปี 2009 เกมที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก DOTA สองเกมได้ถูกกำเนิดขึ้น

 

Demigod เกมคอนเซปต์คล้ายกัน แต่ปัญหามากมาย

 

เกมแรกคือ Demigod จากทีมงาน Gas Powered Games ที่ถือว่ามีชื่อเสียงในวงการเกมไม่น้อย เป็นเกมที่ดูยิ่งใหญ่อลังการแต่สุดท้ายแล้วด้วยปัญหาหลายอย่างเช่นบั๊กของเกมรวมถึงความสมดุลที่ไม่ได้ถูกปรับแต่งมาให้ดี สุดท้ายก็ได้แค่สร้างกระแสแค่ช่วงระยะเวลานึงเท่านั้น ในขณะที่อีกฝั่งนึง League of Legends (LOL) เป็นเกมที่ดูเหมือนกับว่าจะเป็นเกมที่สานต่อจิตวิญญาณของ DOTA ออกมาได้อย่างแท้จริง พัฒนาโดยทีมงาน Riot Games ที่ได้อดีตนักพัฒนา DOTA สองคน Guinsoo และ Pendragon เข้ามาร่วมทำงานด้วย ทำให้ตัวเกมนั้นได้จิตวิญญาณของ DOTA ติดมาด้วยมากเลยทีเดียว ที่สำคัญตัวเกมยังให้คุณได้เล่นฟรีโดยพื้นฐานอีกด้วย ทำให้มีผู้ลงทะเบียนแล้วมากกว่า 15 ล้านคน

Riot Games กระตุ้นให้ผู้เล่นเล่นกันเป็นทีมให้มากขึ้นกว่าเดิมโดยมีการแบ่งประสบการณ์ให้กับผู้ช่วย (assisted player) มีการติวให้กับผู้เล่นใหม่ที่ยังไม่คุ้นเคยผ่านระบบ hint และ tutorial ทีมงาน Riot Games เพิ่มอะไรใหม่ๆ เข้าไปในตัวเกมอยู่เรื่อยๆ เพราะขณะนั้นยังไม่มีคู่แข่งเข้ามาเพิ่มในตลาดจนถึงเมื่อช่วงปีที่แล้วก็มีอีกเกมเข้ามาในตลาดคือ Heroes of Newerth ที่ถึงผู้พัฒนา S2 Games จะยินดีกับยอดขายพอสมควร แต่ก็ยังไม่สามารถล้มเกมที่มาก่อนอย่าง LOL ได้ แต่ถึงอย่างไรก็ไม่สำคัญเท่าไหร่ เพราะมีคู่แข่งที่น่ากลัวยิ่งกว่ากำลังก้าวเข้ามาขอส่วนแบ่งเค้กอันโตชิ้นนี้

เดือนตุลาคมปี 2010 Valve Software ประกาศเปิดตัว Dota 2 คู่แข่งสำคัญของ LOL ซึ่งการประกาศเปิดตัวครั้งนี้ไม่ถือว่าเป็นข่าวใหม่อะไร เพราะก่อนหน้านี้ IceFrog ได้เคยบอกในสังคมเกมไว้ก่อนหน้านี้เป็นปีแล้วว่ากำลังพัฒนาเกมร่วมกับ Valve รวมถึงการประกาศจดเครื่องหมายการค้า DOTA เอาไว้หมายความว่า IceFrog กำลังทำเกมที่มีแนวคิดของ DOTA อยู่อย่างแน่นอน

 

Dota 2 Screenshot
Dota 2 จาก Valve

 

หลังจากที่ Valve จดเครื่องหมายการค้าไปแล้ว IceFrog โดนโจมตีอย่างหนักจากสมาชิกในสังคม DOTA เพราะพวกเขารู้สึกว่าการนำชื่อ DOTA ที่ไม่ได้หวังในผลกำไรใดๆ ไปจดนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง หนึ่งในผู้ที่ออกมาติเตียนก็ทีมงาน Blizzard (เพิ่งจะออกมาทำไมป่านนี้) ด้วยสถานการณ์แบบนี้ทำให้เหล่าสมาชิกต้องไปจดเครื่องหมายการค้าคำว่า “Defense of the Ancients” ไว้เช่นกัน

ถึงแม้ว่า IceFrog จะกำลังทำเกมให้กับ Valve อยู่แต่ตัวเขาเองก็ยังปรับแต่งตัวม็อด DOTA เวอร์ชั่นดั้งเดิมอยู่เหมือนเดิม แต่เวลาส่วนใหญ่ของเขาก็แน่นอนว่าต้องไปเน้นให้กับการพัฒนาเกม Dota 2 (สังเกตได้ว่าเขียนไม่เหมือนกันเพราะ Valve โต้แย้งว่าคำนี้ไม่ถือว่าเป็นตัวย่ออีกต่อไปแล้ว) โดยใน Dota 2 บอกฟีเจอร์ไว้สั้นๆ ว่าจะ”มีบอท ระบบติวเตอร์และระบบการจับคู่ผู้เล่นที่มีความสามารถใกล้เคียงกัน”

Blizzard ที่ทำตัวนิ่งเดียวดายอยู่นานปล่อยให้โอกาสเสียไปเปล่าๆ สุดท้ายก็ประกาศเหมือนกันว่ากำลังทำ Blizzard DOTA อยู่เช่นกันโดยใช้เล่นคู่กับ StarCraft 2 เรียกว่างานนี้ตีกันสนุกสนานซึ่ง Blizzard บอกว่าจะมีตัวละครมาจากเกมต่างๆ ของทางค่ายเอง รวมถึงมีการบริหารทรัพยากรอีกต่างหาก

จากการประกาศเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ของ Dota 2 + การจัดแข่งขันโดยทีมชั้นนำตั้งแต่เกมยังไม่ออกและมีเงินรางวัลรวมสูงถึง 1.6 ล้านเหรียญ รวมถึงตัวเกมที่มีแนวโน้มสูงมากว่าจะเปิดให้เล่นฟรีเช่นกัน งานนี้ทำให้คู่แข่งที่โดนผลกระทบโดยตรงอย่าง LOL ต้องหวั่นใจกันบ้างไม่มากก็น้อย แต่อย่างไรก็ตามหัวเรือใหญ่ของ Riot Games ยังใจดีสู้เสืออยู่และบอกว่าจะมีการพัฒนาตัวเกมไปในแนวทางใหม่ๆ มากขึ้น รวมถึงยังเอาประโยคเด็ดของ Charles Darwin มาใช้อีกต่างหาก “เผ่าพันธุ์ที่อยู่รอดได้ไม่ใช่ผู้ที่แข็งแกร่งที่สุดหรือฉลาดที่สุด แต่เป็นผู้ที่ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้ดีที่สุด”

การเปิดตัวอย่างเป็นทางการของ Dota 2 ในงาน Gamescom ที่กำลังจัดอยู่ในตอนนี้ถือว่าเป็นการแสดงให้เห็นว่าเกมแนวนี้มีอนาคตที่กำลังสดใสอย่างมาก การมีตัวเลือกเยอะหลายตัวหมายความว่าผู้เล่นอย่างเราๆ ก็มีตัวเลือกมากขึ้น ส่วนใครจะอยู่หรือจะไปอย่างไรก็ต้องรอดูกันยาวๆ ครับ

 

เรียบเรียงใหม่จาก Eurogamer

One Reply to “จาก DOTA จนถึง Dota 2 จากม็อดเล็กๆ สู่เกมฟอร์มยักษ์”

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *