PC Gaming กำลังจะตาย แซงยอดขายคอนโซลทั้งหมดภายในปี 2014

บางคนอาจสงสัยว่าผมพิมพ์หัวข้อข้อผิดหรือไม่อย่างไร ผมไม่ได้พิมพ์ผิดแน่นอน คำว่าเกมพีซีกำลังจะตายนั้นเราได้พบได้เห็นตลอดมาตั้งแต่คอนโซลยุคปัจจุบันวางจำหน่ายแล้ว ว่าสุดท้ายแล้วตลาดของเกมคอนโซลนั้นจะเข้ามากลืนกินส่วนของพีซีไปทั้งหมด แต่แท้จริงแล้วกลับไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลย ถึงตอนนี้กลับมั่นใจเสียยิ่งกว่าเมื่อผมได้อ่านสไลด์รวมถึงรายงานที่น่าสนใจจากทาง Nvidia ผู้ผลิตชิปกราฟิคชื่อดังที่เรารู้จักกันดี ที่นอกจากจะทำชิปกราฟิคให้กับพีซีแล้ว ยังทำให้กับคอนโซลอีกด้วย (Xbox รุ่นแรกและ PlayStation 3)

สิ่งที่ Nvidia นำเสนอมาถือว่าน่าสนใจเลยทีเดียว เพราะนอกจากที่ยังจะแสดงให้เห็นแล้วว่าเกมบนพีซีมีการพัฒนาตลอดเวลาและแซงหน้าคอนโซลตั้งแต่คอนโซลยุคนี้วางจำหน่าย เนื่องจากอุปกรณ์พีซีใหม่ๆ นั้นออกมาแทบทุกปีทำให้ความเร็วนั้นสามารถแซงคอนโซลไปได้แบบไม่ต้องสงสัย (ใครเป็นเกมเมอร์ยุคเก่าๆ คงทราบดีว่าจอแบบ CRT นั้นมีความละเอียดที่สูงเกิน Full HD ไปนานแล้ว แต่สุดท้ายก็ต้องกลับมาเริ่มต้นกันใหม่ทั้งหมดในยุคของ LCD) โดยกราฟที่ทาง Nvidia นำมาแสดงนั้นกล่าวว่าพีซี มีประสิทธิภาพที่สูงกว่าคอนโซลถึงสิบเท่า

ช่วงที่กราฟเริ่มทิ้งห่างไปถึงสองเท่าเลยก็คือช่วงที่มีการอัพเดท DirectX 10 ซึ่งช่วงเวลานั้นเป็นเวลาของ Windows Vista และเกม Crysis ออกวางจำหน่ายพอดี ถือว่าเป็นการสร้างปรากฎการณ์เรื่องกราฟิคแบบที่ใครๆ เห็นแล้วก็ต้องตกใจว่าเทคโนโลยีในขณะนั้นก้าวไปไกลเพียงใด

กราฟต่อมาก็น่าสนใจไม่แพ้กัน เป็นเรื่องของมูลค่าซอฟต์แวร์ภายในตลาดเกมพีซี อันนี้ถือว่าฝั่งพีซีค่อนข้างเสียเปรียบมากในช่วงเวลาที่ผ่านมา เพราะคอนโซลนั้นมีเกมออกมาเพียบและตลาดก็ต่างเทความสนใจไปให้กับทางนั้นเสียเยอะ แต่ทุกอย่างเริ่มเปลี่ยนแปลงไปเมื่อในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาตลาดของพีซีมีมูลค่าที่เพิ่มขึ้นอย่างมากเหตุผลด้วยเกมที่อยู่บนเบราเซอร์และเกม MMORPG ที่กำลังฮิตติดตลาดอย่างหนักในตอนนี้ โดยเฉพาะเกมต่างๆ ที่มีรูปแบบการทำตลาดที่ต่างกันออกไปคือเริ่มเน้นโมเดลการทำตลาดแบบ เปิดให้เล่นฟรีในเบื้องต้น แต่ถ้าอยากเก่งหรือเท่ คุณต้องจ่ายเงิน (Free-to-Play) ซึ่งเป็นโมเดลที่กำลังเข้าไปกลืนกินการทำตลาดแบบเก่าคือการจ่ายค่าเกมเป็นรายเดือน มากขึ้นเรื่อยๆ (บ้านเราไม่ค่อยแปลกใจเพราะ Free-to-Play) นั้นตลาดเอเชียเริ่มทำก่อนมานานมากแล้วครับ จากการคาดการณ์ของ Nvidia มูลค่ายอดขายซอฟต์แวร์ทั้งหมดของพีซีจะแซงคอนโซลทั้งหมดภายในปี 2014 ครับ

นอกจากนี้เทรนด์ที่เราไม่อาจมองข้ามได้เลยคือการแจกจ่ายเกมแบบดิจิตอล (Digital Distribution) หรือที่เรารู้จักกันมากๆ ในเมืองไทยก็คือพวก Steam, GoG อะไรทั้งหลายนี่แหละที่ตอนนี้ยอดขายทั้งหมดสูงขึ้นเรื่อยๆ และเป็นพระเอกของแพล็ตฟอร์มพีซีอยู่ในขณะนี้และกำลังพุ่งแรงชนิดไม่หยุดหย่อนและเบียดยอดขายเกมกล่องแบบเดิมๆ จนแทบจะจมดินอยู่แล้ว แต่บ้านเราหลายๆ อย่างยังไม่เอื้ออำนาจเท่าที่ควรเท่าไหร่ เหตุผลมีหลายประการเช่น ราคาเกมที่ส่วนมากแล้วยังอิงกับสกุลเงิน US Dollar ทำให้ราคาเกมใหม่ๆ นั้นยังอยู่ในหลักพันกว่าบาทซึ่งหากซื้อเป็นกล่องแล้วส่วนมากจะถูกกว่า ความเร็วของอินเตอร์เน็ตที่บ้านเราจะว่าเร็วมั๊ยก็ไม่ได้เร็วมากมายสักเท่าไหร่ (แต่ผมว่าประเด็นใหญ่สุดคือราคา Steam นี่ยังอิงกับค่าเงิน US ที่จะแพงมากหากไม่มีการลดราคา) บ้านเราตอนนี้เลยมีอีกหนึ่งทางเลือกคือการซื้อเกมเฉพาะตัว cd-key จากโซนที่ราคาถูกกว่าและไม่ล็อคโซนแล้วนำไป activate ในโปรแกรมอีกทีหนึ่งเพื่อให้ได้เกมของแท้มาเล่น

Nvidia ยกตัวอย่างของเกมที่มาแรงบนแพล็ตฟอร์มพีซีและกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่องอย่าง LoL (League of Legends) และเกม World of Tanks ที่มีผู้เล่นรวมกันแล้วสูงถึงเกือบ 20 ล้านคน สองเกมนี้ใช้โมเดลแบบ Free-to-Play ทั้งหมด (ใครสนใจเรื่อง League of Legends สามารถไปอ่านได้ในบทความ จาก DOTA จนถึง Dota 2 จากม็อดเล็กๆ สู่เกมฟอร์มยักษ์)

หากสงสัยว่ารัศมีของพีซีจะถูกบดบังหรือไม่ เมื่อคอนโซลยุคต่อไปออกสู่ท้องตลาดภายในอีกปีสองปีนี้ มุมมองผมเองคงต้องบอกว่าคงมีผลกระทบไม่มากเพราะตอนนี้เกมพีซีกลายเป็นตลาดที่มีความเฉพาะตัวค่อนข้างสูงและต่างกับคอนโซลพอสมควร โดยเฉพาะตลาดเกม MMORPG ที่ไม่ว่าจะยังไงแล้วเกมพีซีก็ยังกินอยู่วันยังค่ำครับ ยิ่งเรื่องประสิทธิภาพด้วยแล้วคอนโซลยุคใหม่ไม่สามารถตามพีซีได้ทันเลยและมาตรฐานของคอนโซลยุคต่อไปนั้นถึงอย่างไรก็คงไม่พ้นการทำให้คอนโซลของตนเองสามารถรันเกมได้ที่ 1080p ที่เฟรมเรต 60 เฟรมต่อวินาที (ปัจจุบันคอนโซลทำตรงนี้แบบ Native แทบจะไม่ได้เลย ใช้เทคนิคการอัพสเกลเข้าช่วยทั้งสิ้นครับ) รวมถึงมาตรฐานภาพสามมิติ คือไม่ว่ามุมมองไหนแล้วคอนโซลก็ยากที่จะเทียบเคียงพีซีในด้านประสิทธิภาพครับ ถึงอย่างไรเราก็ต้องติดตามกันต่อไปว่าทั้งวงการพีซีและคอนโซลจะเป็นอย่างไรบ้างในอนาคต

ข้อมูลและภาพประกอบจาก TechGage

Technorati Tags: ,

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *