AMD กับบทบาทที่สำคัญในเครื่องเกมยุคต่อไปและวงการเกมพีซี

ถือว่าประกาศออกมาครบทั้งสามค่ายแล้วเรียบร้อย และหวังว่าคงจะตัดสินใจกันได้บ้างแล้วหากใครคิดที่จะซื้อเครื่องเกมคอนโซลยุคต่อไปจากทั้งสามค่าย Nintendo, Sony และ Microsoft ปีนี้ถือว่าเป็นอีกปีที่วงการเกมจะมีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง หลังจากที่ยุคล่าสุดของเกมคอนโซลนั้นสามารถลากยาวมาได้เป็นเวลานานถึงเกือบแปดปี และสำหรับยุคที่ถึงนี้นับว่ามีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง หากจะว่าในเชิงเทคนิคแล้วยุคนี้เป็นยุคแรกที่เครื่องเกมจะมีการเปลี่ยนมาใช้สถาปัตย์การประมวลผลแบบ x86, x64 ที่เราใช้กันอยู่บนพีซีแบบตั้งโต๊ะและโน๊ตบุ๊คตั้งแต่สมัยปีมะโว้ ซึ่งเครื่องเกมที่เน้นสเปคทั้งหลายอย่าง Xbox One และ PlayStation 4 ต่างหันมาใช้สถาปัตย์นี้ด้วยกันทั้งคู่ แต่ในรายละเอียดยิบย่อยนั้นก็ยังถือว่าแตกต่างกันบ้างแต่ก็ถือว่าไม่มากนัก

Xbox One

AMD เป็นค่ายที่นับว่ามีบทบาทกับเครื่องเกมคอนโซลมาอย่างต่อเนื่อง โดยในยุคที่ผ่านมาเครื่องเกมสองในสามเครื่อง (Xbox 360, Nintendo Wii) ล้วนใช้หน่วยประมวลผลกราฟิกจากทาง AMD (หรือ ATI ในยุคนั้น) ด้วยกันทั้งสิ้น แต่สำหรับยุคที่กำลังจะมาถึงนี้นับว่า AMD มีบทบาทกับคอนโซลทั้งสามเครื่องเรียกว่าค่อนข้างมากเลยทีเดียว มีเครื่องเดียวที่ยังคงใช้ซีพียู PowerPC อยู่ก็คือ Wii U แต่หน่วยประมวลผลกราฟิกก็เป็น AMD เช่นกัน ส่วนอีกสองเครื่องอย่าง Xbox One, PlayStation 4 ก็จะใช้หน่วยประมวลผลทั้งสองอย่าง (ซีพียูและการ์ดจอ) เป็นของ AMD ทั้งหมดเลยโดยทาง AMD นำเทคโนโลยี APU (มาจาก Accelerated Processing Unit) รุ่นล่าสุดของตัวเองมาใส่ในเครื่องเกมรุ่นนี้ทำให้กราฟิกของเกมยุคหน้านั้นจะขยับขึ้นไปอีกขั้นเนื่องจากมีทรัพยากรให้ผู้พัฒนาเกมได้ใช้งานมากขึ้นโดยเฉพาะ RAM ที่สองค่ายนี้ต่างใจดีให้กันมาค่อนข้างมากถึง 8GB

Radeon HD 7870

ถึงแม้ว่า AMD จะค่อนข้างเสียเปรียบในด้านพลังการประมวลผลของซีพียูและยังคงทวงบัลลังก์ซีพียูที่แรงที่สุดคืนจาก Intel ไม่ได้เสียทีตั้งแต่ที่ตระกูล Core 2 Duo ออกวางจำหน่าย แต่ในด้านกราฟิกแล้วถือว่ายังสามารถขับเคี่ยวกับ NVIDIA ได้อย่างสูสีผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะอยู่แทบทุกปี แน่นอนว่าคอนโซลทั้งสามเครื่องนี้ยอดขายคงถล่มทลายและทำรายได้ให้กับ AMD อย่างมหาศาลแน่นอนไปอย่างต่ำก็เกือบสิบปี (คาดกันว่าคอนโซลยุคนี้อาจจะยืนยาวถึง 10 ปีกันเลย) และ AMD ก็ถือว่ามีการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ในตลาดระดับกลางและล่างที่สามารถครองใจผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์ที่ไม่อยากจ่ายแพงกับคอมพิวเตอร์ของตนเพื่อแลกกับประสิทธิภาพที่ตัวเองไม่ได้ใช้หรือเพิ่มมาแค่น้อยนิด

 สเปคของ Xbox One ปะทะ PlayStation 4

Xbox 360 Xbox One PlayStation 4
CPU Cores/Threads 3/6 8/8 8/8
CPU Frequency 3.2GHz 1.6GHz (est) 1.6GHz (est)
CPU µArch IBM PowerPC AMD Jaguar AMD Jaguar
Shared L2 Cache 1MB 2 x 2MB 2 x 2MB
GPU Cores 768 1152
Peak Shader Throughput 0.24 TFLOPS 1.23 TFLOPS 1.84 TFLOPS
Embedded Memory 10MB eDRAM 32MB eSRAM
Embedded Memory Bandwidth 32GB/s 102GB/s
System Memory 512MB 1400MHz GDDR3 8GB 2133MHz DDR3 8GB 5500MHz GDDR5
System Memory Bus 128-bits 256-bits 256-bits
System Memory Bandwidth 22.4 GB/s 68.3 GB/s 176.0 GB/s
Manufacturing Process 28nm 28nm

สเปคจาก Anandtech จะสังเกตเห็นได้ว่าแทบจะใช้สถาปัตย์ฯ ที่แทบจะเหมือนกัน ต่างกันตรงที่สองเครื่องนี้มีชนิดของแรมและการใช้แรมที่แตกต่างกัน หากเทียบกับสเปคแล้ว PlayStation 4 อาจแรงมากกว่า Xbox One ถึงเกือบเท่าตัวในด้านการประมวลผลกราฟิก

โดยเจ้า Jaguar CPU และ GPU ที่สเปคเทียบเคียงได้กับ Radeon HD 7870 ที่จะถูกแพ็ครวมกันเป็น APU นั้นคาดว่าจะถูกวางจำหน่ายในอีกไม่นาน คาดว่าเป็นช่วงปลายปีนี้ให้ตลาดพีซีได้ซื้อหาไปใช้งานกัน นั่นหมายความว่าหากคุณซื้อแรมใส่ให้กับเครื่อง 8GB สามารถที่จะได้คอมพิวเตอร์ที่มีพลังการประมวลผลเท่ากับคอนโซลยุคหน้าได้อย่างแน่นอน ส่วนเรื่องเกมนั้นศักยภาพของ 7870 สามารถเล่นเกมได้ลื่นที่ความละเอียดมาตรฐานอย่าง 1080p ได้อย่างสบาย (การ์ดจอตระกูล x870, x850 เป็นการ์ดจอที่หากเทียบราคาต่อประสิทธิภาพแล้วคุ้มค่าที่สุดตัวนึง) สำหรับเรื่องเกมนั้นหลายฝ่ายคาดการณ์กันว่าการเปลี่ยนมาใช้ x86 ของเครื่องเกมคอนโซลจะขจัดปัญหาโลกแตกของเกมเมอร์ยุคที่ผ่านมาได้

เกม Multiplatform ยุคต่อไปจะไม่ใช่ปัญหา?

เรื่องน่าปวดหัวที่สุดเรื่องนึง (โดยเฉพาะเกมเมอร์ที่เล่นพีซีเป็นหลัก) คือการพอร์ทเกมจากเครื่องนึงไปยังอีกเครื่องนึง บางครั้งเราอาจจะไม่ได้เล่นเกมที่ชอบบนเครื่องที่ตัวเองมีก็เพราะค่ายผู้พัฒนาไม่ยอมพอร์ทเกมนั้นๆ มาลงให้ ไม่ว่าจะเหตุผลใดก็ตามแต่ (เชิงเทคนิค ลิขสิทธิ์ สัญญา เงินทุน บลาๆ) หากไม่นับเรื่องลิขสิทธิ์แล้วข้ออ้างหนึ่งที่ผู้พัฒนานิยมอ้างถึงกันมากที่สุดคือ สถาปัตย์ฯ แต่ละเครื่องนั้นแตกต่างกันเกินไปทำให้การพอร์ทนั้นไม่สามารถทำได้และเกี่ยวเนื่องกับเงินทุนและระยะเวลา โดยชาวพีซีนั้นมักจะได้เล่นเกมที่พอร์ทจากเครื่องเกมอย่าง Xbox 360 เสียเป็นส่วนมากโดยเครื่องเกมที่ใช้ซีพียูแหวกแนว (Cell Broadband Engine) อย่าง PlayStation 3 แทนที่จะทำให้ผู้พัฒนาสะดวกกลับกลายเป็นว่าลำบากกว่าเดิมและกลายเป็นข้ออ้างไปโดยปริยาย เพราะหากผู้พัฒนารายนั้นไม่ได้มีชุดพัฒนาของตนเอง (หรือบริษัท) ที่สามารถพอร์ทไปได้หลากหลายเครื่องได้อย่างสะดวก นั่นหมายความว่าเราแทบจะไม่ได้เห็นเกมนั้นๆ พอร์ทไปหาเครื่องอื่นๆ เลย

แต่ด้วยยุคใหม่นี้สองเครื่องที่เปลี่ยนมาใช้ x86 หมายความว่าการพัฒนาเกมแบบลงหลายเครื่องพร้อมกัน (multiplatform) ดูเหมือนจะง่ายและสะดวกขึ้น รวมถึงชาวพีซีก็อาจจะได้เล่นเกมดีๆ จากคอนโซลกันมากขึ้นเนื่องจากสถาปัตย์ฯ ไม่ได้แตกต่างกันมาก ทำให้การพอร์ทลงนั้นไม่ต้องลงทุนลงแรงมากกว่าที่ผ่านมา ส่งผลถึงต้นทุนในการพัฒนาที่ลดลงแต่สามารถเพิ่มยอดขายซอฟต์แวร์ของตัวเองได้มากขึ้นจากเดิมอีกด้วย ทำให้กำแพงเรื่องข้ออ้างว่าพอร์ทเกมลงพีซีนั้นลำบากดูเหมือนจะลดลงไปได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของค่ายนั้นๆ ว่าอยากจะพอร์ทเกมต่างๆ ไปลงพีซีหรือเปล่าด้วย

สำหรับตลาดพีซีเราคงต้องติดตามกันต่อไปว่าหลังจากที่ APU ตัวใหม่ของทาง AMD รวมถึงคอนโซลยุคต่อไปออกวางจำหน่ายแล้วจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นในวงการเกมบ้าง แต่งานนี้สำหรับชาวพีซีน่าจะมีความหวังมากกว่ายุคก่อนแน่นอน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *