คู่มือจัดสเปคคอม แนวทางและสิ่งที่คุณต้องรู้ก่อนประกอบคอม

my-pc
PC ที่ผมใช้อยู่ในตอนนี้


Introduction

คำถามเรื่องสเปคคอมว่ารุ่นไหนดีไม่ดียังไง ดูเหมือนจะเป็นคำถามยอดนิยมในแทบจะทุกเวลา และดูเหมือนกับว่าจะเป็นเรื่องยากทีเดียวสำหรับผู้ที่ไม่ค่อยคลุกคลีในวงการคอมพิวเตอร์มากมายนัก แน่นอนว่าเดี๋ยวนี้อุปกรณ์อย่างแท็บเล็ตหรือโทรศัพท์มือถือมีบทบาทมากขึ้น แต่สำหรับทั้งคอมพิวเตอร์แบบตั้งโตะและโน๊ตบุ๊คก็ยังได้รับความนิยมเช่นเดิม เนื่องจากมันทำงานได้หลายอย่างทั้งการทำงานแบบเอกสารปกติยันไปถึงงานทีมีความซับซ้อน หรือบางคนอาจจะซือมาเพื่อความบันเทิงเช่นดูหนังหรือเล่นเกม สำหรับบทความนี้อาจจะยาวสักหน่อยแต่ผมอยากจะสรุปข้อมูลหลาย ๆ อย่างสำหรับคนที่อยากจะซื้อคอมพิวเตอร์หรือโน๊ตบุ๊คในปีนี้ ว่าควรจะเลือกเครื่องของตนเองอย่างไร

สำหรับเครื่องพีซีแล้ว การประกอบเครื่องเองนั้นอาจจะดูยากสำหรับมือใหม่ แต่จริง ๆ แล้วหากศึกษาข้อมูลเพิ่ม เดี๋ยวนี้การประกอบคอมพิวเตอร์ขึ้นมาเพื่อใช้งานสักเครื่องง่ายกว่าสมัยก่อนหลายเท่าตัวมาก ส่วนการเลือกส่วนประกอบนั้นก็ถือว่าเป็นส่วนสำคัญ โดยผมจะขอร่ายถึงรายละเอียดอุปกรณ์ในแต่ละส่วนสักนิดเพื่อเป็นแนวทางสำหรับบุคคลทั่วไป

– กดที่นี่เพื่อกลับไปสารบัญด้านบนสุด –

ซีพียู (CPU)

cpu-424812_1280

ใครเคยเรียนคอมพิวเตอร์มาบ้างทราบกันดีว่าซีพียูคือหัวใจของคอมพิวเตอร์ที่มีความสำคัญที่สุด เนื่องจากการประมวลผลหลักจะเกิดขึ้นที่ส่วนนี้ ซีพียูมีหลากหลายความเร็วและหลากหลายราคา โดยซีพียูปัจจุบันมีสองเจ้าหลักที่ทำการแข่งขันมาโดยตลอดคือ Intel และ AMD

โดยปัจจุบัน AMD มีการแบ่งซีพียูของตัวเองออกดังนี้ (เอาเฉพาะรุ่นที่มีขายกันเยอะ ๆ ในไทย)

Sempron – ตระกูลน้องเล็กที่สุด เน้นสำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์ราคาถูกและเมนบอร์ดขนาดเล็กอย่าง Socket AM1
Athlon – ตระกูลระดับกลาง ใช้งานกับเมนบอร์ดขนาดเล็กอย่าง Socket AM1 เช่นเดียวกัน
FX – เป็นตระกูลหลักของซีพียูแบบคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะของ AMD เน้นการทำงานหรือเล่นเกมที่ต้องใช้ประสิทธิภาพสูง

A6, A8, A10 – เป็น APU (Accelerated Processing Unit) ซึ่งถือว่าเป็นซีพียูอีกแบบที่มีการรวมหน่วยประมวลผลกราฟิก (การ์ดจอ) ไว้ในตัวชิปด้วยและเป็นสถาปัตย์แบบใหม่จากทาง AMD และระยะหลังทาง AMD เหมือนจะหันมาทำ APU มากขึ้น ในเรื่องประสิทธิภาพแล้วถือว่ายังเป็นรองตระกูล FX แต่ข้อดีคือประสิทธิภาพด้านการเล่นเกมและกราฟิกที่คุ้มค่าต่อราคา (APU ตระกูล A10 ซึ่งเป็นรุ่นระดับบนสุดถือว่าเล่นเกมได้ไม่เลวเลยทีเดียว) เหมาะกับคนที่อยากเล่นเกมได้สักระดับนึง แต่ไม่อยากลงทุนซื้อการ์ดจอแยก เพราะการ์ดจอออนบอร์ดที่ติดมากับ APU นั้นถือว่ามีความเร็วในระดับที่ไม่ขี้เหร่เลยละ

ส่วนฝั่ง Intel นั้นจะมีตระกูลหลักก็คือ Core i3, i5, i7 ซึ่งเป็นการเรียงประสิทธิภาพจากรุ่นระดับล่าง กลาง และสูงเช่นเดียวกัน แต่ก็ยังมีซีพียูในชื่อ Pentium อยู่บ้างซึ่งถือว่าเป็นรุ่นเล็กที่สุด (เอาไว้พิมพ์งานว่างั้น)

คำถามสุดท้ายคือยี่ห้ออะไร รุ่นไหนดี ? มองการใช้งานและงบประมาณเป็นสำคัญ หากคุณใช้งานปกติ พิมพ์งานเอกสาร กราฟิกนิดหน่อยและงบไม่เยอะมากนัก การใช้ซีพียูตระกูลรุ่นเล็กอย่าง Sempron, Athlon จาก AMD หรือ Pentium, i3 จาก Intel ก็ดูจะเพียงพอแล้วซึ่งราคาไม่แพง

แต่หากอยากได้เพื่อเล่นเกมหรือทำงานที่หนักหน่วงกว่านั้น เช่น ตัดต่อกราฟิกภาพใหญ่ ๆ ทำงานด้านวิดีโอ การพิจารณาเลือกใช้ซีพียูระดับบนในตระกูล FX จาก AMD หรือ i5, i7 จาก Intel จะเป็นตัวเลือกที่เหมาะ โดยเฉพาะหากมีการทำงานที่มีความซับซ้อนเช่นทำวิดีโอ หรือปั้นโมเดลสามมิติ การเลือกซีพียูระดับบนสุดจะเห็นผลชัดเจนมาก แต่หากนำมาเพื่อเล่นเกม อาจจะไม่จำเป็นต้องซื้อซีพียูในราคาที่สูงระดับนั้นก็ได้ (AMD ใช้ตระกูล FX-8xxx หรือ Intel Core i5 ก็เพียงพอแล้ว)

หากดูสเปคสิ่งที่ควรทราบไว้บ้างก็ได้แก่ ประเภท Socket เช่น AM3+, LGA 1150 ซึ่งเป็นตัวบ่งบอกว่าซีพียูจะเสียบลงกับเมนบอร์ดแบบไหน (หากซื้อเมนบอร์ดไม่ตรงก็เสียบไม่ได้นะจ๊ะ) ความเร็วปกติ หน่วยเป็น GHz และความเร็วแบบ Turbo ที่หน่วยจะเป็น GHz เช่นกันโดยจะสูงกว่าแบบปกติและจะปรับขึ้นเมื่อใช้งานหนัก และแคช ซึ่งเป็นหน่วยความจำชั่วคราวบนซีพียู ตัวนี้มีหน่วยเป็น MB ว่ากันง่าย ๆ คือยิ่งมาก ก็จะช่วยให้ซีพียูทำงานได้สะดวกรวดเร็วขึ้น (และราคาก็สูงตามไปด้วย)

เลือกของให้เหมาะกับการใช้งาน และอยู่ในงบของตัวเอง

– กดที่นี่เพื่อกลับไปสารบัญด้านบนสุด –

เมนบอร์ด (Mainboard)

mainboard

ซีพียูนั้นตัวเลือกไม่มากนักหากเทียบกับเมนบอร์ดที่มีให้เลือกกันเพียบ เมนบอร์ดเป็นเหมือนแผงวงจรหลักที่อุปกรณ์ทั้งหมดจะเสียบลงไป ฉะนั้นอันดับแรกคือต้องเลือก Socket ให้ตรงกับซีพียูที่ซื้อหรือเลือกไว้ เช่นหากซื้อซีพียูแบบ LGA 1150 ก็ต้องซื้อเมนบอร์ดที่เป็น Socket LGA 1150 เป็นต้นเพื่อที่จะใส่ด้วยกันได้ ส่วนเรื่องรุ่นไหนรองรับซีพียูรุ่นไหนได้บ้างหรือไม่ ปัจจุบันไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไรนัก (เลือกให้ตรง socket ก็มั่นใจได้ระดับหนึ่งว่าจะสามารถใช้งานกับซีพียูที่ซื้อมาได้ แต่ก็ควรเช็คเพิ่มเติมเพื่อความมั่นใจ) ที่เหลือก็จะเป็นเรื่องคุณสมบัติที่เมนบอร์ดมาให้ได้แก่ พอร์ตสำหรับเสียบการ์ดจอ (PCI-E) หรือพอร์ตแบบ PCI ปกติว่ามีกี่พอร์ต นอกจากนี้จะยังมีเรื่องของสล็อตแรม ปัจจุบันส่วนใหญ่มีให้ 4 ช่องสำหรับเมนบอร์ดทั่ว ๆ ไปและ 2 ช่องสำหรับเมนบอร์ดแพลทฟอร์มเล็ก นอกจากนี้เมนบอร์ดบางตัวอาจติดลูกเล่นอย่างสามารถรับสัญญาณ Wi-Fi หรือส่ง Bluetooth ได้ก็มีแต่ราคาก็จะสูงตามไปด้วย

โดยสิ่งที่เมนบอร์ดราคาสูง ๆ นั้นจะแตกต่างจากเมนบอร์ดราคาทั่วไปนั้นก็ได้แก่ รูปร่างและการจัดวาง layout (ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีผลต่อราคา) ลูกเล่นพิเศษ หรือวัสดุในภาคจ่ายไฟที่ใช้ที่รองรับการใช้งานแบบหนักหน่วง ที่ผมกล่าวถึงคำว่าหนักหน่วงนี่คือหนักจริง ๆ เช่นใช้การ์ดจอพร้อมกันหลายตัว หรือสำหรับนักโอเวอร์คล็อคที่ปรับแรงดันไฟขึ้นไปมากกว่าปกติ ซึ่งบุคคลทั่วไปนั้นเมนบอร์ดในระดับราคา 2500-4500 บาทถือว่าเหมาะสมดีแล้ว ส่วนยี่ห้อไหนจะถูกใจใครนั้นเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล ส่วนตัวผมชอบยี่ห้อ ASUS ซึ่งเป็นเจ้าที่ทำเมนบอร์ดคุณภาพออกมาได้คงเส้นคงว่าและหน้าตาถูกโฉลก

– กดที่นี่เพื่อกลับไปสารบัญด้านบนสุด –

แรม (RAM)

DDR4 RAM

แม้ว่าตอนนี้แรมแบบ DDR4 จะเริ่มเข้ามามีบทบาทบ้างแล้วในวงการคอมพิวเตอร์ระดับบน ๆ แต่ปัจจุบันราคายังถือว่าแพงมากและหาคนที่จะซื้อมาใช้งานนั้นน้อยอยู่ในตอนนี้ ฉะนั้นตอนนี้แรมแบบ DDR3 ยังเป็นพระเอกไปได้อีกอย่างน้อยก็สักสองหรือสามปีจนกว่า DDR4 ราคาจะถูกลงจนคนทั่วไปสามารถซื้อกันได้ สำหรับการเลือกแรมนั้นจะมีสองส่วนที่ควรพิจารณา ได้แก่บัสหรือความเร็วของแรม จะมีตั้งแต่ 1600, 1866 หรือ 2400 MHz สำหรับ DDR3 ซึ่งบัสที่สูงขึ้นก็แลกมาด้วยราคาที่สูงตามไปด้วย ซึ่งแรมที่มีค่า MHz สูง ๆ ก็เหมาะกับการใช้งานงานที่ต้องการถ่ายโอนข้อมูลจำนวนมากระหว่างแรมเช่นงานตัดต่อวิดีโอ งานด้านกราฟิก แต่หากจะว่าจริง ๆ ในการใช้งานปกตินั้นไม่เห็นผลมากนัก ฉะนั้นเลือกเอาตามที่ชอบและเมนบอร์ดของตัวเองรองรับก็แล้วกัน

อีกค่าหนึ่งที่น่าสนใจคือ CAS Latency (CL) ที่หากเราดูสเปคแรมดี ๆ จะเห็นตัวเลขเป็นชุด ๆ เช่น 9-9-9-24 ชุดเลขนี้สรุปแบบกำปั้นทุบดินได้ว่า ยิ่งต่ำยิ่งดี แรมที่มีค่า MHz สูง ๆ มีแนวโน้มที่ค่า CL จะสูงตามไปด้วย เนื่องจากเทคโนโลยีปัจจุบันยังยากที่จะทำค่าแรม CL ต่ำให้ได้ในความเร็วที่สูง ๆ ฉะนั้นปกติคือควรเลือกแบบต่ำ ๆ เช่น 9 ขึ้นต้นไว้ก็จะดีกว่า 10 หรือ 11

ยี่ห้อของแรมนั้นจะว่ากันจริง ๆ ไม่ได้มีความแตกต่างกันมากนัก โดยปัจจุบันยี่ห้อที่เราพบเห็นกันเยอะที่สุดคงหนีไม่พ้น Kingston ซึ่งปัจจุบันส่วนใหญ่จะเป็นซีรี่ส์ HyperX ทั้งหมดแล้ว และมีหลายความเร็วหลายขนาดให้เลือก ยี่ห้ออื่น ๆ ก็ได้แก่ G.Skill, Team Group, ADATA, Corsair เป็นต้น ยี่ห้อเหล่านี้ถือว่าไว้ใจได้และมีความแตกต่างกันไม่มากนักหากนำมาใช้งานปกติ เว้นแต่บางซีรี่ส์ที่เน้นออกแบบมาเพื่อการโอเวอร์คล็อค (overclock)

หากเป็นไปได้ควรซื้อแรมแบบขายมาเป็นคู่ เช่น 4 GB สองแท่งในกล่องเดียว (4 GB x 2 = 8 GB) หรือ 8 GB สองแท่งในกล่องเดียว (8 GB x 2 = 16 GB) เพราะแรมนั้นหากต้องการใช้งานแบบ Dual Channel แล้วต้องใส่เป็นคู่พร้อมกัน และแรมที่ขายคู่กันเช่นนี้มีการทดสอบมาแล้วว่าใช้งานร่วมกันจะไม่มีปัญหาอย่างแน่นอน สำหรับมาตรฐานปัจจุบันการใช้งานต่ำ ๆ ควรอยู่ที่ 8 GB แล้ว (4 GB x 2) หากใช้งานหนักหน่วงกว่านั้นเช่นการตัดต่อวิดีโอหรือทำงานกราฟิก การใช้งานสัก 16 GB ก็เป็นตัวเลือกที่ดีหากงบคุณนั้นเอื้ออำนวย เพราะโปรแกรมเหล่านี้มักกินแรมสูงมากในขณะที่คุณทำการเรนเดอร์ไฟล์หรือวิดีโอหรือทำงานเป็นเวลานาน

– กดที่นี่เพื่อกลับไปสารบัญด้านบนสุด –

ฮาร์ดดิสก์ (Hard Disk)

hard-disk-inside

สื่อเก็บข้อมูลหลักในคอมพิวเตอร์ของเรา ปัจจุบันมีสองแบบคือ HDD (Hard Disk Drive) ซึ่งเป็นแบบจานหมุนใช้หัวอ่าน แบบที่เรารู้จักกันดี และล่าสุดที่กำลังนิยมใช้กันคือ SSD (Solid State Drive) ที่เก็บข้อมูลลงชิปหน่วยความจำ

hard-disk-western-digital

HDD ปัจจุบันครองตลาดอยู่สองยี่ห้อคือ Seagate และ Western Digital (WD) ซึ่งยี่ห้อ Seagate ไม่ได้มีการซอยรุ่นสำหรับผู้ใช้งานตามบ้านมากมายนัก (ส่วนใหญ่เป็น Baracuda ทั้งสิ้น) แต่อีกยี่ห้อคือ Western Digital มีการแบ่งรุ่นออกเป็นสี ๆ ได้แก่รุ่น Green, Blue, Black และเมื่อไม่นานมานี้ก็มีเพิ่มมาอีกให้ได้งงกันเพิ่มคือ Red, Purple เรียกได้ว่ามีห้าสีกันเข้าไปแล้ว

สำหรับผู้ใช้งานทั่วไปแบบเรา ๆ จะใช้งานกันส่วนใหญ่แค่สามสีแรกคือ Green, Blue, Black ซึ่งเรียงตามประสิทธิภาพโดย Green เป็นฮาร์ดดิสก์ที่เหมาะแก่การเก็บข้อมูลสำรองไว้ (เช่นการใช้งานแบบ External) และไม่ได้เรียกใช้งานบ่อย ๆ เนื่องจากประสิทธิภาพนั้นไม่ได้รวดเร็วทันใจมากนัก ส่วน Blue เป็นรุ่นระหว่าง Green, Black ที่เน้นประสิทธิภาพขึ้นมานิดหน่อย แต่ก็ยังประหยัดไฟอยู่ ส่วน Black เป็นรุ่นบนสุดที่เน้นความเร็วในการถ่ายโอนข้อมูล และแน่นอนว่ากินไฟมากที่สุดในสามสีนี้และเหมาะสำหรับการเก็บข้อมูลที่คุณคาดหวังเรื่องความเร็ว เช่นเก็บเกม หรือไฟล์วิดีโอสำหรับใช้ในงานตัดต่อ

ส่วนอีกสองสีคือ Red, Purple เป็นรุ่นสำหรับใช้งานบนเครื่องเก็บข้อมูลเช่น NAS หรือเครื่องบันทึกภาพจากกล้องวงจรปิดหรือทีวี เป็นต้น

ssd-solid-state-drive

ส่วนฮาร์ดดิสก์อีกแบบคือ SSD (Solid State Drive) เป็นการเก็บข้อมูลในอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งจะเก็บลงชิปหน่วยความจำแทนที่จะลงบนจานแผ่นแม่เหล็กแบบปกติ ข้อดีที่สุดของ SSD คือความเร็วที่สูงมากรวมถึงมี Access Time ที่ต่ำ ทำงานกับไฟล์จำนวนมากทั้งการเขียนและอ่านได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็ต้องแลกมาด้วยราคาต่อ GB ที่แพงกว่าฮาร์ดดิสก์แบบเดิม ๆ มาก

SSD ปัจจุบันราคาไม่ได้แพงมากแล้ว สามารถหาซื้อความจุขนาด 120 GB มาใช้งานกันได้ในราคาเพียงแค่ไม่ถึงสี่พันบาท เหมาะมากที่จะใช้งานกับเพื่อลงเป็นไดรฟ์เพื่อใช้งานหลักอย่างไดรฟ์ C: (ซึ่งมีระบบปฏิบัติการอยู่) SSD จะทำให้เครื่องคุณบูทเข้าสู่หน้าจอวินโดวส์เพื่อใช้งานได้อย่างรวดเร็วแบบชนิดที่ฮาร์ดดิสก์ปกติไม่สามารถทำได้

นอกจากสเปคเรื่องความจุแล้ว ยังมีอัตราการเขียนและอ่านที่ควรเลือกให้มากเข้าไว้จะเป็นเรื่องดี และอีกค่าหนึ่งคือ IOPS (Input/Output Operations Per Second) ที่ยิ่งเยอะก็ยิ่งดีเช่นเดียวกัน ส่วนยี่ห้อในตลาดนั้นก็มีหลากหลายยี่ห้อและหลายระดับให้เลือกใช้ โดยรุ่นบน ๆ จะมีความเร็วที่สูงกว่าด้วยการใช้ประเภทชิปหรือการเพิ่มแคช (Cache) ให้มากกว่ารุ่นล่าง ๆ ยี่ห้อที่นิยมกันมากสำหรับผู้ใช้งานระดับบน ๆ คือ Samsung, Intel ส่วนที่เหลือจะเป็นสำหรับผู้ใช้งานทั่วไปเช่น Plextor, Crucial, Lite-On เป็นต้น (ยี่ห้อเหล่านี้ก็มีรุ่นบน ๆ เช่นเดียวกันแต่ไม่ได้นิยมเท่ากับสองยี่ห้อข้างต้น)

– กดที่นี่เพื่อกลับไปสารบัญด้านบนสุด –

การ์ดจอ (Display Card)

display-card-geforce

หากคุณไม่ได้อยากใช้ชิปออนบอร์ดเพื่อแสดงผลแล้ว ก็ขาดการ์ดจอไปไม่ได้ ปัจจุบันมียี่ห้อที่ครองตลาดเพียง 2 ยี่ห้อคือ AMD และ Nvidia ผ่านซีรี่ส์อย่าง Radeon, GeForce การ์ดจอมีการออกรุ่นใหม่ทุกปีหรือปีครึ่ง ประสิทธิภาพก็แยกออกไปตามราคาที่คุณจะจ่ายไหวตั้งแต่ตัวละสามพันยันสามหมื่น

การ์ดจอในระดับบนของ AMD และ Nvidia ในขณะนี้ได้แก่

– Geforce GTX 980, 970
– AMD Radeon R9 290X, 280X
Update ล่าสุดปี 2559 คือ AMD Radeon R9 Fury และ Nvidia Geforce 980Ti

ระดับกลาง

– GeForce GTX 960, AMD Radeon R9 270X

และระดับล่างคือ GTX 750, R7 250 ลงไป

จะเห็นได้ว่าประสิทธิภาพของแต่ละระดับนั้นจะไล่เลขจากต่ำไปหาสูงทั้งสองค่าย โดยการ์ดระดับล่าง ๆ ก็จะเน้นการทำงานแบบเบา ๆ หรือเล่นเกมที่ไม่ได้กินสเปคมากมายนักเช่นเกมออนไลน์ ส่วนการ์ดระดับกลางถึงสูงนั้นจะมีประสิทธิภาพที่สูง สามารถปรับกราฟิกได้สวยงามมากกว่าและเหมาะกับการทำงานที่ใช้การประมวลผลจาก gpu มาก ๆ เช่นงานตัดต่อวิดีโอหรือปั้นโมเดล (มีซีรี่ส์การ์ดอย่าง Quadro, Firepro ซึ่งออกแบบมาเพื่องานด้านนี้โดยเฉพาะด้วย)

แน่นอนว่าหากซีพียูที่คุณใช้หรือเลือกนั้นมีประสิทธิภาพมากพอ จะสามารถขับพลังของการ์ดจอออกมาได้เต็มที่มากกว่าการเลือกใช้ซีพียูที่ประสิทธิภาพต่ำกว่าปกติ การจัดสเปคไม่สมดุลย์นั้นหากคุณนำไปเล่นเกมอาจพบกับอาการสะดุดแบบไร้สาเหตุ หรืออาจจะได้เฟรมเรตที่ต่ำกว่ามาตรฐานที่การ์ดตัวนั้นจะได้รับ

จากประสบการณ์ส่วนตัวของผมหากใช้ซีพียูดี ๆ แต่การ์ดจอระดับกลางถึงล่างก็ยังถือว่าเล่นเกมได้ค่อนข้างดีและคาดเดาผลลัพธ์ได้ดีกว่าการใช้การ์ดจอราคาแพง จะอัพเกรดเครื่องพีซีเพื่อมาเล่นเกมจะมองแต่การ์ดจอเพียงอย่างเดียวไม่ได้ หากส่วนประกอบที่เหลือมันไปด้วยกันลำบากก็มีปัญหาเช่นเดียวกัน

– กดที่นี่เพื่อกลับไปสารบัญด้านบนสุด –

ตัวจ่ายไฟ (Power Supply)

power-supply-unit-corsair-1200i

คอมพิวเตอร์ทั้งเครื่องจะใช้งานได้ยาวนานและมั่นใจได้ขนาดไหน คงมองข้ามตัวนี้ไปไม่ได้เลย ผมว่า Power Supply เป็นส่วนประกอบที่คนส่วนใหญ่มองข้ามไปเยอะมากจริง ๆ และยังมีข้อถกเถียงกันเยอะมากว่าควรใช้ยี่ห้อไหน และกี่วัตต์กันไม่รู้จักจบสิ้น

ปัจจุบัน PSU จะมีสองแบบคือถอดสายได้ (Modular) และถอดสายไม่ได้ (Non Modular) แบบถอดสายได้ความได้เปรียบที่สุดคือเสียบเฉพาะสายที่ใช้งาน ทำให้ภายในคอมพิวเตอร์ของคุณเป็นระเบียบมากกว่าเนื่องจากจัดสายได้ง่ายนั่นเอง มันไม่ง่ายเลยที่จะจัดสายเยอะ ๆ ภายในเคสตัวเล็กนิดเดียว

ยี่ห้อที่เชื่อมั่นใจได้ซึ่งขายในบ้านเราก็ได้แก่ Corsair, Enermax, Silverstone, Seasonic ยี่ห้อเหล่านี้ถือว่าเป็นยี่ห้อที่ไว้ใจได้และทำรุ่นตั้งแต่แบบถอดสายไม่ได้ จนไปถึงแบบถอดสายได้ทุกเส้น (Full Modular)

ส่วนยี่ห้ออื่น ๆ นอกจากนี้ควรเลือกแบบวัตต์แท้ไว้ก่อนจะเป็นเรื่องดี แต่ถ้าให้แนะนำผมว่าควรใช้ยี่ห้อด้านบนดีกว่า ของแบบนี้พังไปทีนึงงานอาจจะเข้ากันได้ง่าย ๆ เพราะบางครั้งมันไม่ได้พังแค่ตัวเดียว แต่ไฟจะกระชากเอาชีวิตอุปกรณ์อื่น ๆ ของคุณไปด้วย เช่น ฮาร์ดดิสก์หรือการ์ดจอ

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการจ่ายไฟแบบ Single Rail ซึ่งเหมาะกับการใช้งานแบบใช้ไฟเยอะ ๆ เช่นต่อการ์ดจอหลายตัวพร้อมกันในรูปแบบ SLI หรือ Crossfire เป็นไปได้ก็ควรเลือกแบบ Single Rail (ซึงรุ่นกลางถึงบน ปกติมักจะเป็นแบบนั้นอยู่แล้ว)

ยังมีตัวกำกับอีกตัวคือพวก 80 Plus Bronze, Gold, Platinum, Titanium พวกนี้เป็นมาตรฐานบ่งบอกว่าตัวจ่ายไฟนั้นมีประสิทธิภาพดีแค่ไหน เช่น 80 Plus Bronze การันตีว่าจ่ายไฟได้ในประสิทธิภาพ 80% ส่วน Titanium นั้นประสิทธิภาพสูงสุดถึง 96% ส่วนตัวแล้วผมว่าไม่ได้มีความแตกต่างอะไรกันมากนักระหว่าง 80 Plus Bronze ไปจนถึง Titanium ในเรื่องของค่าไฟที่คุณใช้งานจริง ๆ เพราะ 10 หรือ 15% ที่ว่านี้คือการใช้งานแบบต้องมีโหลดพอสมควรคือ 50-100% แน่นอนว่าหากคุณใช้ตัวจ่ายไฟที่มีมาตรฐาน 80 Plus อาจจะช่วยลดค่าไฟของคุณได้บ้างหากเทียบกับตัวจ่ายไฟแบบ no name แต่ก็ไม่ได้คุ้มค่าอะไรมากที่จะต้องไปเล่นถึงระดับ Platinum หรือ Titanium

ส่วนที่สำคัญที่สุดคือ Watt (W) หรือกำลังจ่ายไฟนั่นเอง เรื่องนี้หากจะลงอย่างละเอียดต้องว่ากันยาวพอสมควร เนื่องจากต้องนำชิ้นส่วนทุกชิ้นมาคำนวณกำลังไฟที่เหมาะสม แต่สำหรับผู้ใช้งานทั่วไปแล้วจากประสบการณ์ส่วนตัว ยากมากที่จะใช้งานไฟถึง 500W ในการใช้งานจริงแบบการ์ดจอตัวเดียว (และเป็นการ์ดระดับกลางค่อนไปทางสูงด้วย) ส่วนที่กินไฟมากที่สุดในคอมพิวเตอร์คือการ์ดจอ โดยรุ่นบนสุดอาจกินไฟได้สูงสุดถึงตัวละ 250W หากต่อกันหลายตัวจำเป็นต้องใช้ตัวจ่ายไฟที่จ่ายได้มากกว่า 1000W ขึ้นไป

แต่ส่วนใหญ่แล้วเลือกใช้สัก 500W หรือ 600W นี่ก็เหลือเฟือแล้วจริง ๆ ครับ เครื่องผมเองใช้ Radeon 7990 สองตัว (4 GPU) ซึ่งถือว่าเป็น GPU ตัวนึงที่กินไฟมากที่สุด ใช้ตัวจ่ายไฟ 1200W ถึงจะเอาอยู่ครับ ฉะนั้นเครื่องคอมพิวเตอร์ปกติทั่วไป 600W นี่ผมถือว่าสบาย ๆ แต่หากมีเงินเหลืออยากเพิ่มไปมากกว่านี้ก็ตามสะดวกไม่ได้ผิดกติกาแต่อย่างใด

– กดที่นี่เพื่อกลับไปสารบัญด้านบนสุด –

จอแสดงผล (Monitor)

computer-monitor-nec

จอนั้นปัจจุบันมีหลายแบบโดยแยกตามคุูณภาพของวัสดุภายนอก ภายใน และการเชื่อมต่อ โดยจอมอนิเตอร์นั้นปัจจุบันถ้าให้แนะนำคือควรจะใช้งานสัก 20 นิ้วเป็นอย่างต่ำ และความละเอียดระดับ Full HD (1920 x 1080) เพื่อที่จะรองรับการดูหนังฟังเพลงในยุคนี้แบบเต็มที่ โดยรายละเอียดเรื่องการเลือกซื้อจอนั้นสามารถเข้าไปดูได้อีกบทความซึ่งผมเขียนไว้นานแล้วพอสมควร (แต่ก็ยังถือว่าใช้งานได้อยู่นะ)

เคส (Case)

computer-case-corsair

เคสคอมพิวเตอร์ก็คือตัวถังมีหน้าที่ทำให้อุปกรณ์ทุกอย่างอยู่กับเป็นกลุ่มเป็นก้อน รวมถึงจัดการสิ่งต่าง ๆ ให้เป็นระเบียบ หลักการเลือกเคสคอมพิวเตอร์นั้นไม่ได้มีอะไรที่ซับซ้อนนัก นอกจากหน้าตาและจำนวนช่องที่มีให้แล้ว สิ่งที่ควรพิจารณาคือ Form Factor ที่ควรเลือกให้เข้ากับเมนบอร์ด เช่นหากเมนบอร์ดของคุณเป็นแบบ ATX (ซึ่งเป็นเมนบอร์ดที่ใหญ่ที่สุด) ก็ควรเลือกเคสที่รองรับเมนบอร์ดชนิดนี้ด้วย โดยหากคุณเลือกเคสที่รองรับแบบ ATX แล้วจะสามารถใส่กับบอร์ดที่เล็กกว่านี้ได้เช่นเดียวกัน (mATX) แต่ข้อเสียของเคสที่รองรับ ATX คือจะมีรูปร่างที่ค่อนข้างใหญ่กว่าเคสที่รองรับสูงสุดแค่ mATX ซึ่งหลายคนจะชอบหรือไม่นั้นก็แล้วแต่ละบุคคล

นอกจากนี้ยังมีแพลทฟอร์มที่มีขนาดเล็กจิ๋วคือ ITX ซึ่งเหมาะกับเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีขนาดเล็กมาก ๆ เช่นเอาไว้ใช้งานเป็น Home Theater PC (HTPC) เป็นต้น ซึ่งต้องใช้เคสแบบ ITX และเมนบอร์ดแบบ ITX ด้วยเช่นเดียวกัน

กลับมาดูที่แพลทฟอร์ม ATX หากเรียงตามความสูงของเคสจะแบ่งได้เป็น Full Tower, Mid Tower, Mini Tower โดย Full Tower นั้นถือว่าเป็นเคสที่มีความสูงมากที่สุดโดยอาจสูงได้มากกว่า 60CM พร้อมมีช่องสำหรับใส่ไดรฟ์ด้านหน้ามากมาย เหมาะสำหรับการใช้งานเป็น Server เพื่อวางไว้บนพื้น เคสทั่วไปที่เราใช้กันตามบ้านส่วนใหญ่จะเป็น Mid Tower ที่มีช่องสำหรับใส่ไดรฟ์ประมาณสี่ถึงห้าช่อง หรือ Mini Tower ที่มีขนาดเล็กที่สุด

ส่วนของราคานั้นมีตั้งแต่ไม่ถึงหนึ่งพันบาท ยันไปถึงหลายหมื่นบาทก็มี โดยมีปัจจัยหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง ได้แก่ ยี่ห้อ ความเนี๊ยบของงาน รุ่น ลูกเล่นพิเศษเช่น ฝาข้างใส โดยเคสที่เป็นเหล็กนั้นจะเป็นเคสที่มีน้ำหนักค่อนข้างมากและไม่สะดวกแก่การเคลื่อนย้าย แต่ก็มีข้อดีตรงราคาไม่แพง ส่วนตัวถังแบบอลูมิเนียมนั้นจะมีราคาสูงกว่ามากในขนาดเดียวกัน แต่มีน้ำหนักเบาและไม่ขึ้นสนิม

โดยเคสนั้นถือว่าเป็นหน้าตาของคอมพิวเตอร์ที่เราใช้งานอยู่แทบทุกวัน ฉะนั้นหลายคนอาจเลือกด้วยเรื่องของหน้าตาและลูกเล่นเป็นหลัก ซึ่งหากคุณเน้นการแต่งคอมเพื่อความสวยงามแล้วละก็จะมีของแต่งจำนวนมากเข้ามาให้คุณได้เสียเงินกัน แต่หากใช้งานปกติแล้วเคสในราคาไม่เกิน 2,000 บาทก็ถือว่าเหมาะสม และสวยงามพอประมาณแล้ว ยี่ห้อชั้นนำในท้องตลาดก็ได้แก่ Corsair, Cooler Master, Thermaltake, NZXT, Silverstone, Zalman เป็นต้น

– กดที่นี่เพื่อกลับไปสารบัญด้านบนสุด –

ตัวอย่างสเปคตามงบ

สเปคคอมประกอบ ราคาประมาณ 15,000 – 20,000 บาท

Intel

  • CPU: Pentium G3258 3.2 GHz 2950 บาท
  • Mainboard: ASUS H81M-D 2050 บาท
  • RAM: DDR3 4 GB 1400 บาท
  • HDD: Western Digital Blue 1TB 1990 บาท
  • Power Supply: Corsair VS 450 1200 บาท
  • DVD Drive 600 บาท
  • Case: เลือกเอาตามสะดวก 1500 บาท
  • Monitor + Keyboard + Mouse 4000 บาท (โดยประมาณ)

รวมราคา 15,690 บาท

AMD

  • APU: AMD A6 6400K 3.9 GHz 2150 บาท
  • Mainboard: Asrock FM2A58M-HD+ 1650 บาท
  • RAM DDR3 4GB 1400 บาท
  • HDD Western Digital Blue 1TB 1990 บาท
  • Power Supply: Corsair VS 450 1200 บาท
  • DVD Drive 600 บาท
  • Case: เลือกเอาตามสะดวก 1500 บาท
  • Monitor + Keyboard + Mouse 4000 บาท (โดยประมาณ)

รวมราคา 14,490 บาท

สองสเปคนี้ความสามารถไม่ได้ห่างอะไรกันมากมายนัก เนื่องจากเป็นสเปคที่เล่นเกมได้นิดหน่อย (นิดหน่อยจริง ๆ) กับแรมแค่ 4 GB อาจจะถือว่าปริ่ม ๆ กับการใช้งานวินโดวส์ปกติทั่วไป หากมองเพื่อนำมาเล่นเกมแล้วดูเหมือน AMD จะได้เปรียบกว่าพอสมควรในสเปคระดับนี้ เนื่องด้วยความสามารถของ APU ที่รวมการ์ดจอมาให้นั่นเอง และราคายังถูกกว่าอีกด้วย

หากงบขยับไปถึง 2 หมื่นบาท สามารถเพิ่มแรมเป็น 8 GB (เพิ่มเงินอีกประมาณ 1,500 บาท) หรือเพิ่มการ์ดจอตัวละสองพันกว่าหรือสามพันเพื่อให้เล่นเกมได้ดียิ่งขึ้น หรือหากจัดสเปคค่าย AMD อาจจะไม่ต้องเพิ่มการ์ดจอ แต่สลับไปเปลี่ยนเป็น APU รุ่นที่ดีกว่ากว่านี้แทน สรุปในความคิดผมแล้วหากงบไม่เกิน 2 หมื่นใช้ APU ดูเหมือนจะคุ้มค่าที่สุดหากต้องการนำมาเล่นเกม

– กดที่นี่เพื่อกลับไปสารบัญด้านบนสุด –

สเปคคอมประกอบ ในราคา 25,000 – 30,000 บาท

Intel

  • CPU: Core i5 4460 3.2 GHz 6,250 บาท
  • Mainboard: MSI H97M-E35 2,490 บาท
  • RAM: DDR3 8GB ราคา 2,700 บาท
  • Power Supply: Corsair CX 500M 2,450 บาท
  • HDD: Western Digital Blue 1TB 1,990 บาท
  • Display Card: MSI AMD Radeon R9 270X 7,200 บาท
  • DVD Drive 600 บาท
  • Case: เลือกเอาตามสะดวก 1,500 บาท
  • Monitor + Keyboard + Mouse 4,000 บาท

รวมราคา 29,180 บาท

AMD

  • CPU: AMD FX-8320 3.5 GHz 5,300 บาท
  • Mainboard: Gigabyte GA-970A-D3P 2,790 บาท
  • RAM: DDR3 8GB ราคา 2,700 บาท
  • Power Supply: Corsair CX 500M 2,450 บาท
  • HDD: Western Digital Blue 1TB 1,990 บาท
  • Display Card: MSI AMD Radeon R9 270X 7,200 บาท
  • DVD Drive 600 บาท
  • Case: เลือกเอาตามสะดวก 1,500 บาท
  • Monitor + Keyboard + Mouse 4,000 บาท

รวมราคา 28,530 บาท

ทั้งสองชุดนี้ถือว่ามีประสิทธิภาพใกล้เคียงกันในการใช้งานจริง โดยสิ่งที่เพิ่มเข้ามาคือการ์ดจอแยก ตัวจ่ายไฟที่มีจำนวนวัตต์มากขึ้นและถอดสายได้ รวมถึงแรมก็ใช้ความจุ 8 GB

หากงบมากกว่านี้คุณสามารถใส่ตัวเลือกได้เช่น อัพเกรดซีพียูเป็นซีรี่ส์ i7 ซึ่งประสิทธิภาพนั้นอยู่ในระดับสูง (ถ้าของ AMD ก็เช่น FX-9xxx) เพิ่ม SSD เข้ามาใช้งานร่วมกับ HDD เพื่อความรวดเร็วในการทำงาน หรือแม้แต่จะอัพเกรดการ์ดจอให้เป็นรุ่นสูงกว่านี้ก็ยังได้เช่นเดียวกัน

– กดที่นี่เพื่อกลับไปสารบัญด้านบนสุด –

แหล่งเช็คราคาสินค้าคอมพิวเตอร์ในไทย

  • jib.co.th pricelist ร้านคอมพิวเตอร์ที่มีสาขาทั่วทั้งประเทศ มีของในระดับแทบทุกเกรดให้เช็คราคา
  • Bananait.com ร้านคอมพิวเตอร์ที่มีสาขาแทบทั่วทั้งประเทศเช่นเดียวกัน สามารถเช็คราคาได้เช่นเดียวกัน (ถึงจะไม่ได้เรียงเป็นรายชื่อให้ดูง่าย ๆ เหมือนร้านอื่นก็ตามที)
  • Advice.co.th อีกหนึ่งดีลเลอร์เจ้าใหญ่ที่มีร้านคอมเป็นสาขาย่อยมากทีเดียว โดยเฉพาะเขตต่างจังหวัด สามารถเช็คราคาได้เช่นเดียวกัน
  • Busitek.com pricelist ร้านคอมพิวเตอร์ชื่อดังในห้างพันธุ์ทิพย์ เน้นอุปกรณ์ระดับกลางถึงบน
  • Jedi pricelist อีกร้านในพันธุ์ทิพย์ที่เน้นอุปกรณ์ระดับกลางถึงบน

8 Replies to “คู่มือจัดสเปคคอม แนวทางและสิ่งที่คุณต้องรู้ก่อนประกอบคอม”

  1. พี่ครับ ผมอยากจะขอคำแนะนำจากพี่หน่อยครับ

  2. บทความดีมากเลยครับ ขอบคุณมากๆ เลย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *