จัดสเปคคอม 25,000 บาทสำหรับทำงาน เล่นเกมแบบชิล ๆ

pc-spec-25000-head

เมื่อจะประกอบคอมใหม่สักเครื่อง งบประมาณที่ถือว่ายอดนิยมที่สุดตัวนึงคืองบ 25000 บาท ซึ่งราคานี้ถือว่ากำลังพอดี สำหรับคนที่ต้องการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อทำงาน และเพื่อความบันเทิงเช่นการเล่นเกม ราคาระดับนี้ถือว่าได้เครื่องที่อยู่ในระดับกลาง ๆ ไม่ต่ำและไม่สูงไป ถ้าทำงานก็ถือว่าทำงานได้อยู่ในระดับดีถึงดีมาก ทำงานกราฟิกเบา ๆ ก็เจ๋งอยู่ไม่น้อย โดยในงบนี้หากประกอบคอมตั้งโต๊ะถือว่าได้ในราคาที่คุ้มค่ากว่าการซื้อคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊กมาก

โดยในงบ 25,000 บาท ผมขอแยกสเปคไว้ดังนี้ โดยทั้งสองแบบนั้นมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันออกไป

AMD Set

AMD FX 4300 3.6 GHZ  = 3,790 บาท
Asrock 960GM VGS3 FX = 1,620 บาท
RAM DDR3 1600 Kingston 4GB*2 = 1,580 บาท
Power Supply Corsair 550W VS550 = 1,790 บาท
SSD 120GB Kingston Hyper X Fury = 1,950 บาท
HDD WD Blue 1TB = 1,890 บาท
ASUS AMD R9 270x 2GB DDR5 = 6,600 บาท
LED BenQ GW2255 21.5″ = 3,390 บาท
Case + Mouse + Keyboard + Speaker = 2,000 บาท

รวม 24,610 บาท

 

Intel Set

Intel Core i3 4150 3.5 GHz = 3,990 บาท
Asrock B85M-HDS = 1,990 บาท
RAM DDR3 1600 Kingston 4GB*2 = 1,580 บาท
Power Supply Corsair 550W VS550 = 1,790 บาท
SSD 120GB Kingston Hyper X Fury = 1,950 บาท
HDD WD Blue 1TB = 1,890 บาท
ASUS AMD R9 270x 2GB DDR5 = 6,600 บาท
LED BenQ GW2255 21.5″ = 3,390 บาท
Case + Mouse + Keyboard + Speaker = 2,000 บาท

รวม 25,180 บาท

จะเห็นได้ว่าฝั่ง Intel จะราคาสูงกว่านิดหน่อย โดยซีพียูที่ระดับใกล้เคียงกันตัวต่ำสุดคือ Core i3 4150 (ไม่แนะนำให้ลงไปเล่นถึง Celeron) มีราคาสูงกว่า FX 4300 ของฝั่ง AMD อยู่นิดหน่อยคือประมาณ 200 บาท ซึ่งความชอบนั้นก็ถือว่าเป็นเรื่องส่วนตัวว่าชอบค่ายใด แต่หากมองภาพรวมแล้วฝั่ง Intel นั้นมีประสิทธิภาพที่ดีกว่าแบบปฏิเสธไม่ได้

Asrock 960GM-VGS3 FX
Asrock 960GM-VGS3 FX

ในส่วนของเมนบอร์ด ในงบระดับนี้ไม่สามารถที่จะขยับไปเล่นเมนบอร์ดที่มีราคาสูงได้มากมายนัก โดยตัวที่เลือกให้นั้นมีราคาอยู่ที่ประมาณไม่เกิน 2,000 บาท ซึ่งปัจจุบันเมนบอร์ดในราคาไม่ถึง 2,000 บาทสำหรับการใช้งานที่ไม่หนักหน่วงมากมายนั้นถือว่าตอบสนองได้เป็นอย่างดี โดยมีลูกเล่นมาตรฐานอย่างครบถ้วน และมีการ์ดจอออนบอร์ด (ซึ่งหลายคนก็ไม่ได้สนใจเท่าไหร่) มีมาให้ด้วย โดยมีข้อสังเกตนิดหน่อยคือในฝั่งของ AMD ที่จัดสเปคนี้จะพบว่าเมนบอร์ดไม่มีการรองรับ USB 3.0 (เพราะชิปเซ็ทบนเมนบอร์ดเป็นรุ่นเก่า) แต่ในฝั่งของ Intel นั้นมีติดมาให้แบบเสร็จสรรพ ถ้าอยากจะใช้ USB 3.0 ในฝั่งของ AMD นั้นจะต้องอัพเกรดขึ้นไปเล่นเมนบอร์ดที่ใช้ชิปเซ็ท AMD 970 แทน ซึ่งก็จะเกินงบออกไปอีก มองจากตรงนี้อาจจะเห็นว่าฝั่ง AMD เสียเปรียบเล็กน้อยด้านลูกเล่นบนเมนบอร์ด แต่ไม่เป็นไร สำหรับคนที่อยากใช้ค่าย AMD มีอีกทางเลือกในตอนท้ายครับ

Kingston DDR3 1600 MHz

ส่วนของแรม เลือกมาให้เป็น DDR3 ความเร็ว 1600 MHz ซึ่งถือว่าไม่ช้าไม่เร็วโดยผู้ที่คิดว่าความเร็วระหว่าง 1333 MHz และ 1600 MHz ไม่มีความต่างอะไรกันมากนั้นก็สามารถประหยัดมากขึ้นโดยลดลงไปเล่นความเร็ว 1333 MHz ได้ ซึ่งราคาห่างกันแค่นิดเดียวเท่านั้น ฉะนั้นเลือกใช้ความเร็ว 1600 MHz ไปเลยก็ดีกว่า ส่วนความจุนั้นเลือกเป็น 4 GB จำนวนสองตัวเพื่อทำงานร่วมกันแบบ Dual Channel ซึ่งทำมีประสิทธิภาพที่ดีกว่าการทำงานแบบตัวเดียว ยี่ห้อที่เลือกมาเป็นของ Kingston ซึ่งเป็นยี่ห้อยอดนิยมและไว้ใจได้ในคุณภาพ

VS550

Power Supply ยุคนี้ส่วนใหญ่จะเริ่มต้นที่ 500W ขึ้นไป โดยผมเลือกใช้ Corsair VS550 ซึ่งสามารถจ่ายไฟได้สูงสุดที่ 550W ซึ่งเอาจริง ๆ แล้วสเปคชุดนี้ไม่มีทางใช้ไฟถึงระดับนี้ โดยลูกเล่นของรุ่นนี้ไม่มีอะไรมากโดยแม้แต่สายก็ยังไม่สามารถถอดแยกได้ ซึ่งก็ต้องใช้ฝีมือในการจัดการสายไฟกันนิดหน่อย โดยหากเทียบกับราคาและชื่อชั้นของ Corsair แล้วตัวนี้ถือว่าคุ้มค่าไม่น้อย โดยหากต้องการจะได้ลูกเล่นการถอดสายเก็บนั้นก็อาจจะต้องจ่ายมากกว่านี้เป็นหลักพัน (สำหรับยี่ห้อที่ไว้ใจได้)

SSD ใช้แล้วจะติดใจ
SSD ใช้แล้วจะติดใจ

Hard Disk ผมตัดสินใจที่จะเลือกใช้ถึงสองลูก โดยลูกหนึ่งเป็นลูกหลักที่ใช้ SSD (Solid State Drive) ที่เอาไว้ลงระบบปฏิบัติการ Windows และโปรแกรมที่สำคัญซึ่งขนาด 120 GB นี้ลงโปรแกรมได้ชนิดที่เรียกได้ว่าหนำใจกันไปเลย เผลอ ๆ สำหรับหลายคนอาจจะลงเกมได้สักเกมสองเกมด้วยซ้ำไป ความเร็วนั้นไม่ต้องพูดถึง หากได้ใช้ SSD แล้วอาจจะไม่อยากกลับไปใช้ Hard Disk ธรรมดาเป็นลูกหลักอีกเลย เรื่องยี่ห้อนั้นเลือกใช้ Kingston เช่นเดียวกับแรม เนื่องจากราคาไม่แพง และเป็นยี่ห้อชั้นนำที่ไว้ใจได้รวมถึงประสิทธิภาพไม่ขี้เหร่

ส่วนอีกลูกเป็น Hard Disk แบบธรรมดาที่มีความจุ 1 TB โดยสามารถเก็บทั้งงาน ลงเกมทิ้งไว้ในไดรฟ์นี้อย่างสบายใจ โดยพื้นที่มากถึง 1 TB ยุคนี้ถือว่าเป็นมาตรฐานขั้นต่ำไปแล้วก็ว่าได้สำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์ในยุคนี้ โดยผมเลือกใช้ Western Digital (WD) Blue เนื่องจากปัจจุบันมีราคาแทบไม่ต่างกับ Green และให้ประสิทธิภาพที่ดีกว่า (นิดหน่อย) และเร็วเพียงพอสำหรับงานที่กล่าวไว้ข้างต้น โดยลูกนี้จะแยกเป็นอีกหนึ่งไดรฟ์และถูกเรียกใช้งานแยกออกไป ซึ่งการทำงานบน OS ทั้งหมดรวมไปถึงโปรแกรมที่ไม่ใช่เกม จะอยู่ใน SSD ทั้งหมด

GTX 950 อีกตัวเลือกสำหรับผู้ที่อยากใช้ค่าย Nvidia
GTX 950 อีกตัวเลือกสำหรับผู้ที่อยากใช้ค่าย Nvidia

การ์ดจอ สำหรับสเปคราคานี้ตัวเลือกคงหนีไม่พ้น AMD R9 270X ในทางฝั่ง AMD หรือหากชอบค่าย Nvidia สามารถเปลี่ยนไปใช้ Geforce GTX 950 ก็ได้เช่นเดียวกัน ซึ่งประสิทธิภาพนั้นไม่ได้แตกต่างกันมากมายนัก โดยทั้งสองรุ่นนั้นมีหน่วยความจำอยู่ที่ 2 GB เท่ากัน อาจมีบางรุ่นที่ให้มากถึง 4 GB โดยที่ต้องเพิ่มราคาขึ้นไปอีกพอสมควร ซึ่งผมเองไม่ได้ให้น้ำหนักในจุดนี้มากนัก โดยการ์ดจอในราคาระดับนี้สามารถเล่นเกมได้ดีเสียเป็นส่วนใหญ่

จอ จุดนี้ไม่มีอะไรมากไปกว่าการเลือกตัวที่ถูกที่สุดที่ให้ความละเอียด Full HD เพราะคุณภาพจอในราคานี้ไม่ได้แตกต่างกันมากอย่างมีนัยสำคัญ โดยหลักเกณฑ์ขั้นต่ำคือควรจะเป็นขนาด 20 นิ้วขึ้นไปและรองรับความละเอียด 1920 x 1080 (Full HD) ซึ่งเป็นความละเอียดมาตรฐานของการดูหนังและเล่นเกมในปัจจุบัน

ส่วนที่เหลือคือเจียดงบไว้ประมาณ 2,000 บาทสำหรับการซื้อเคส (ตีว่าราคา 1,000 บาท) และเหลืออีก 1,000 ที่คิดว่าน่าจะซื้อคีย์บอร์ด เมาส์ และลำโพง (ที่ไม่มีซัฟวูฟเฟอร์) ก็น่าจะพอดีในงบ 25,000 บาท โดยชอบตัวใดก็สามารถเลือกได้ตามใจชอบ

จากที่กล่าวไปในส่วนของเมนบอร์ด หลายคนอาจจะรู้สึกอยากใช้ AMD แต่ชิปเซต 960 ซึ่งมีราคาถูกที่สุด ดันไม่รองรับ USB 3.0 ฉะนั้นมีทางแก้อีกหนึ่งรูปแบบคือการใช้เมนบอร์ด Socket FM2+ และ APU ของทาง AMD แทน โดยสเปคที่ใช้ APU มีดังนี้ครับ

AMD APU Set

AMD A8-7600 3.1 GHz = 3750 บาท
ASUS A68HM-K = 1820 บาท
RAM DDR3 1600 Kingston 4GB*2 = 1,580 บาท
Power Supply Corsair 550W VS550 = 1,790 บาท
SSD 120GB Kingston Hyper X Fury = 1,950 บาท
HDD WD Blue 1TB = 1,890 บาท
ASUS AMD R9 270x 2GB DDR5 = 6,600 บาท
LED BenQ GW2255 21.5″ = 3,390 บาท
Case + Mouse + Keyboard + Speaker = 2,000 บาท

รวม 24,770 บาท

ส่วนที่มีการเปลี่ยนแปลงคือ Mainboard และ APU โดย APU นั้นเป็นรุ่น A8-7600 ซึ่งประสิทธิภาพอยู่ในระดับใกล้เคียงกันกับสเปคสองตัวบน ข้อได้เปรียบของ APU คือการจับซีพียูและการ์ดจอรวมไว้เป็นหนึ่งเดียว โดยในรุ่นนี้มีชิป R7 ติดมาด้วยก็เล่นเกมได้นิดหน่อย ข้อดีของการเล่นชุดนี้คือได้เทคโนโลยีที่ใหม่กว่าจากค่าย AMD เพราะซีพียู AM3+ ของ AMD นั้นไม่มีการอัพเดทครั้งใหญ่มากหลายปีแล้ว หลายปีให้หลังมานี้พบว่ามักจะเน้นไปทาง APU เสียมากกว่าด้วยซ้ำไป โดยผู้ที่อยากได้ USB 3.0 เมนบอร์ดเหล่านี้ก็รองรับเป็นอย่างดี

ชุดคอมประกอบราคา 25,000 บาทนี้สามารถใช้ทำงานทั่วไป รวมไปถึงกราฟิกนิดหน่อยได้สบายมาก ซึ่งสามารถทำงานวิดีโอแบบสมัครเล่นได้ด้วยซ้ำไป ส่วนเกมนั้น R9 270X หรือ GTX 950 ก็สามารถเล่นเกมใหม่ ๆ ในท้องตลาดได้อีกหลายปี โดยเกมใหม่ ๆ ก็อาจจะต้องปรับลดรายละเอียดลงมาบ้างตามความเหมาะสม โดยสเปคที่ผมให้มานี้เรียกได้ว่าหากถูกใจก็สามารถนำไปใช้ได้เลย หรือหากไม่ถูกใจจุดไหนก็สามารถขยับขยายได้ตามความชอบแต่ละบุคคล

โดยหากต้องการรายละเอียดและคำแนะนำในการเลือกชิ้นส่วนต่าง ๆ เพิ่มเติม สามารถเข้าไปดูได้ใน คู่มือจัดสเปคคอม ซึ่งผมเขียนไว้ละเอียดพอสมควร

หวังว่าคงจะได้สเปคที่ใช้งานได้ถูกใจกันนะครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *