HDMI 2.0, 2.0a มาตรฐานสายสัญญาณในยุค UHD (4K)

hdmi-connector

 

จะว่าไปเวลาก็ผ่านไปประมาณสองปีแล้วตั้งแต่ HDMI 2.0 ออกสู่สายตาพวกเรา แต่ก็ไม่เคยเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้เสียที ตอนนี้คิดว่า HDMI 2.0 น่าจะเข้าใกล้ตัวเรามากขึ้นไปกว่าเก่า เหตุผลเพราะปัจจุบันทีวีแบบ UHD (4K) ที่จำเป็นต้องใช้ HDMI 2.0 นั้นเริ่มมีราคาที่ถูกลงเรื่อย ๆ จากเมื่อก่อนแทบจะเอื้อมไม่ถึงกันเลย ตอนนี้เริ่มที่จะพอหาซื้อกันได้แล้วในราคาที่อาจจะไม่ได้แพงจนเกินไป ก็เลยเอาเรื่องมาตรฐาน HDMI 2.0 มาสรุปกันดีกว่า

HDMI 2.0 เป็นมาตรฐานที่อัพเดทด้านสเปคมาจาก HDMI 1.4 อีกทีนึง โดยการอัพเดทที่ว่านี้คงไม่พ้นเรื่องของความเร็วและแบนด์วิธที่มีมากขึ้น จากเดิมที่หลายคนอาจจะทราบกันแล้วว่าในเวอร์ชั่น 1.4 นั้นรองรับความละเอียดระดับ 1080p แบบ 3D เต็มรูปแบบ และรองรับความละเอียด 4K ได้แบบชนิดพอใช้งานได้ทั่วไปในการดูหนังฟังเพลง ที่ความละเอียด 3840×2160 เฟรมเรต 24, 25 และ 30 เฟรมต่อวินาที ส่วนความละเอียด 4096×2160 รองรับที่เฟรมเรต 24 เฟรมต่อวินาที

เปรียบเทียบประสิทธิภาพของ HDMI ในแต่ละเวอร์ชั่น
เปรียบเทียบประสิทธิภาพของ HDMI ในแต่ละเวอร์ชั่น

เวอร์ชั่น 2.0 เป็นอัพเดทที่จะทำออกมาเพื่อรองรับความละเอียดระดับ UHD (Ultra High Definition) ได้สมบูรณ์แบบมากขึ้น โดยรองรับเฟรมเรตระดับ 50 และ 60 เฟรมต่อวินาที และรองรับการแสดงผลแบบ 3D ด้วยในความละเอียด 24 เฟรมต่อวินาที ด้วยการส่งข้อมูลความเร็วสูงสุด 18 Gbps

ในส่วนของเสียงนั้นรองรับการส่งสูงสุด 32 Channel เพื่อให้คุณภาพเสียงที่มีรายละเอียดดีที่สุด นอกจากนี้ยังรองรับ Sampling Rate สูงสุดถึง 1536 kHz ที่จะทำให้เสียงที่ออกมานั้นใสกิ๊งแบบไร้ที่ติ รวมไปถึงยังรองรับการรับส่งสัญญาณพร้อมกันสองชุดภายในเวลาเดียวกันด้วย

และยังรองรับลูกเล่น Dual Video Stream ที่ทำให้สามารถส่งสัญญาณภาพ 1080p พร้อมกันได้สองสัญญาณในระยะเวลาเดียวกัน ผลลัพธ์ของลูกเล่นนี้คือฟีเจอร์ใหม่ในทีวีที่ทำให้มีระบบจอใหญ่ จอเล็กภายในหน้าจอเดียว เรียกได้ว่าอยากจะดูช่องไหนก็แยกดูกันไปได้เลย นอกจากนี้ HDMI 2.0 ยังรองรับสัดส่วนหน้าจอ 21:9 ด้วย สำหรับทีวีทั่วไปอาจจะหาหน้าจอรองรับ 21:9 ยากสักหน่อย แต่จอคอมพิวเตอร์เริ่มมีจอแบบ 21:9 ออกมาแล้วหลายรุ่นด้วยกัน

ส่วนเรื่องโลกแตกก็คือเรื่องของสายสัญญาณ โดยเวอร์ชั่น 2.0 สามารถใช้สายเดิมของเวอร์ชั่น 1.4 ได้เลย โดยที่ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนสายเป็นรุ่นใหม่ ซึ่งการอัพเดทเวอร์ชั่น 1.4 ไป 2.0 เป็นการอัพเกรดตัวฮาร์ดแวร์เท่านั้นไม่ได้รวมไปถึงสายสัญญาณ ฉะนั้นสาย HDMI 1.4 (Category 2) สามารถใช้งานได้กับ HDMI 2.0 ไม่มีปัญหาใด ๆ (หากสายเส้นนั้นได้มาตรฐานมากพอ ซึ่งก็ขึ้นอยู่ที่ผู้ผลิตด้วย) รวมไปถึงอุปกรณ์ของคุณแม้ว่าอาจจะรองรับ HDMI 2.0 แล้วก็ยังสามารถใช้กับจอภาพที่รองรับ HDMI เวอร์ชั่นเก่าได้แบบไม่มีปัญหาใด ๆ

เทียบสามมาตรฐานคู่แข่งสำคัญ HDMI 2.0 - DisplayPort 1.2 - HDBaseT 2.0
เทียบสามมาตรฐานคู่แข่งสำคัญ HDMI 2.0 – DisplayPort 1.2 – HDBaseT 2.0

โดยล่าสุดเมื่อกลางปีที่ผ่านมา หน่วยงาน HDMI ออกมาตรฐานใหม่ล่าสุด HDMI 2.0a (จะเห็นได้ว่ามี a พ่วงท้าย) ซึ่งถือว่าเป็นอัพเดทใหม่ล่าสุดที่ออกมา โดยเพิ่มความสามารถให้โดดเด่นขึ้นไปอีก ด้วยจะทำให้ทีวีของคุณนั้นรองรับการส่งข้อมูลแบบ HDR (High Dynamic Range) ซึ่งเจ้า HDR ที่ว่านี้ไม่ได้เหมือนกับภาพ HDR ที่ใช้ในวงการถ่ายภาพ แต่เป็นการรองรับข้อมูลที่มีความละเอียดในส่วนมืดและสว่างมากขึ้น โดย HDR จะเป็นชุดข้อมูลที่ส่งไปหาจอภาพที่รองรับเพื่อบอกให้แสดงผลรายละเอียดในส่วนมืดและส่วนสว่างให้มีรายละเอียดมากยิ่งขึ้นไปอีก

ทีวีรุ่นไหนรองรับ HDMI 2.0(a) บ้าง ?

น่าตลกนิดหน่อยที่คุณจะหาข้อมูลเกี่ยวกับเวอร์ชั่น HDMI ที่ใช้ในทีวีแต่ละรุ่นได้น้อยมากจากเว็บไซต์ผู้ผลิต ดีที่สุดคือการดูด้านหลังเครื่องว่ามีระบุไว้หรือไม่ (ซึ่งอาจจะระบุตรง ๆ หรืออาจเขียนระบุว่าเป็น 60Hz) หรือคู่มือ แต่ทีวีรุ่นใหม่ ๆ ที่มีราคาสูงในระดับเกือบบนสุดและรองรับความละเอียด 4K ส่วนใหญ่มักจะรองรับ HDMI 2.0 ค่อนข้างแน่นอน เช่นทีวีของ Samsung ในตระกูล SUHD ส่วนเวอร์ชั่น 2.0a นั้นทราบมาว่ามีทีวีหลายรุ่นที่สามารถอัพเกรดเฟิร์มแวร์ให้รองรับได้ ซึ่งในตอนนี้มีทีวีหลายรุ่นที่ได้รับการอัพเกรดแล้วเป็นที่เรียบร้อย เรื่องนี้ต้องเช็คกับทางผู้ผลิตอีกครั้งหนึ่งครับ

samsung-suhd

ควรสนใจและต้องใช้มาตรฐาน HDMI 2.0(a) เสมอไปหรือไม่ ?

จริง ๆ มันไม่ใช่เรื่องที่สำคัญอะไรมากนัก โดยเฉพาะหากคุณใช้ทีวีเพื่อความบันเทิงตามปกติ เช่นการดูหนัง ฟังเพลง บลูเรย์ที่ส่วนใหญ่จะใช้เฟรมเรตแค่ 24 เฟรมต่อวินาทีเท่านั้น เรียกได้ว่าทีวีที่เราซื้อ ๆ กันไปนี่ส่วนใหญ่มักจะไม่ได้ใช้เฟรมเรตที่สูงกว่า 24 เฟรมต่อวินาทีเลย แต่สำหรับคนที่เล่นเครื่องเสียงระดับบน ที่อาจจะอยากได้เทคโนโลยีที่สดใหม่เช่นการเล่นหนังที่มีความละเอียดสูง รวมไปถึงเฟรมเรตสูงด้วย (HFR) ก็ต้องพิจารณาเลือกหาจอที่รองรับ HDMI 2.0 มาใช้ แต่ก็นั่นละครับ ปัญหาคือในตอนนี้แม้แต่แผ่นหนังบลูเรย์ส่วนมากแล้ว ก็ยังไม่ได้ใช้แบนวิธด์ในระดับที่ชนเพดานของ HDMI 1.4 กันเลยด้วยซ้ำไป (ในเมืองไทยรวมไปถึงต่างประเทศด้วย) เรื่องหนึ่งที่ผมพอจะนึกออกว่าอาจจะพอรีดประสิทธิภาพออกมาได้สูงสุดคือการต่อกับพีซีเพื่อเล่นเกมในความละเอียด 4K ซึ่งเกมนั้นต้องใช้เฟรมเรตที่สูงกว่า 24 เฟรมต่อวินาทีเพื่อให้ได้ภาพที่ไหลลื่น เรื่องการพิจารณาใช้ HDMI 2.0 ที่รองรับเฟรมเรต 60 เฟรมต่อวินาทีก็อาจจะดูเป็นเรื่องสมเหตุสมผล (แต่ก็ยังมีอีกมาตรฐานที่ชาวพีซีใช้กันได้คือ DisplayPort ซึ่งดูเหมือนจะได้รับความนิยมจากผู้ผลิตการ์ดจอในยุคใหม่ ๆ ไม่น้อยไปกว่า HDMI เลย)

เครื่องเล่น blu-ray แบบอัพสเกลเป็น 4K จาก Sony
เครื่องเล่น blu-ray แบบอัพสเกลเป็น 4K จาก Sony

สรุปคือ HDMI 2.0 ยังหาตัวขับ (source) ที่จะมาใช้งานเต็มประสิทธิภาพนั้นยากพอสมควรเลยละในความคิดของผม และคาดว่า HDMI 1.4 น่าจะยังใช้ไปได้อีกนานจนกว่าจะมีมาตรฐานที่แน่ชัดในฝั่งของ source แต่เลือกทีวีถ้าซื้อใหม่ก็ควรมองที่รองรับไว้ก็ดีไม่น้อยเหมือนกัน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *