ปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพในการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต

ปัจจุบันผมคิดว่าท่านๆ ที่เข้ามาอ่านในเว็บแห่งนี้น่าจะใช้อินเตอร์เน็ตแบบ ADSL เสียเป็นส่วนใหญ่ ปัญหาที่มีมาทุกยุคทุกสมัยในการต่ออินเตอร์เน็ตคือคุณภาพในการใช้งาน ทั้งความเร็วที่อาจไม่ได้เร็วตามที่สมัครไว้ หรือปัญหาหลุดบ่อย สัญญาณหายเป็นต้น บทความนี้ผมอยากจะเอาเรื่องปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวกับการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตแบบ ADSL ที่มีผลต่อคุณภาพในการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตมาอธิบายให้ทราบกันตามภาษาของผมเอง บางอย่างก็เป็นทฤษฎีที่ใช้ได้กับการเชื่อมต่อทุกรูปแบบ (mobile internet, satellite)

คุณภาพในการเชื่อมต่อหลักๆ ที่เรามักนึกถึงกันเป็นอันดับแรกเลยคือสื่อที่เรานำมาใช้ในการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต ซึ่งสิ่งที่ใช้ในการเชื่อมต่อของ ADSL นั่นก็คือสายทองแดงของโทรศัพท์นั่นเอง โดยระบบโทรศัพท์นั้นได้ใช้สายทองแดงมาเป็นระยะเวลานานแล้วตั้งแต่เมื่อเริ่มใช้ครั้งแรกโดยเทคโนโลยี ADSL คือการนำสายสัญญาณโทรศัพท์มาแบ่งเป็นช่วงสัญญาณที่มีช่วงเท่าๆ กันและใช้ช่องสัญญาณเหล่านั้นในการส่งหรือรับข้อมูล (ตรงนี้ผมไม่อยากอธิบายมากมายเพราะมีรายละเอียดที่ไม่ได้เกี่ยวกับบทความนี้เท่าไหร่นัก) แน่นอนว่าหากมีสัญญาณรบกวนเข้ามาในช่องสัญญาณเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นในช่วงความถี่ใดก็ตามทำให้คุณภาพในการเชื่อมต่อลดลงเนื่องจากต้องมีการสลับช่องสัญญาณเพื่อไปใช้ช่องอื่นๆ แทน

ค่าที่เราควรดูไว้สำหรับการเชื่อมต่อนั้นก็คือ (สามารถดูได้จากหน้าข้อมูลของ ADSL Router ในแต่ละรุ่น)

SNR (Signal-to-Noise Ratio)


ดูจากตัวย่อก็เดากันได้ไม่ยากว่าเป็นอัตราส่วนระหว่างสัญญาณที่ดีและสัญญาณที่เลว (ผมตั้งเองแหละ :p) โดยผลที่ได้ออกมาให้เราเห็นกันนั่นก็คือ สัญญาณดีนำมาหักลบกับสัญญาณเลว น่าเหล่านี้ควรจะมีมากๆ ไว้ดีที่สุด หมายความว่าการเชื่อมต่อของคุณจะไม่ค่อยเจอปัญหาข้อมูลเสียจนต้องดรอปทิ้ง ซึ่งเป็นปัญหาของการสะดุดหัวทิ่มของอินเตอร์เน็ต สำหรับค่าที่แนะนำคือ 30 ขึ้นไปโดยสามารถเทียบได้จากข้อมูลด้านล่างนี้

  • 6bB. หรือต่ำกว่า -> ปัญหาหลุดบ่อยหรือบางครั้งไม่มีสัญญาณ
  • 7dB-10dB. -> ใช้ได้ แต่อาจมีปัญหาหลุดเมื่อสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง
  • 11dB-20dB. -> ถือว่าดี ไม่ค่อยมีปัญหาหลุด
  • 20dB-28dB. -> เยี่ยม
  • 29dB. หรือสูงกว่า -> สุดยอด

Router บางตัวไม่เอาข้อมูลเหล่านี้มาแสดงให้เห็นโดยตรง โดยอาจแสดงเป็นค่า SNR Margin ซึ่งก็สามารถใช้เทียบเคียงกับด้านบนได้เหมือนกันครับ ถึงจะไม่ใช่ค่าจริงๆ ก็ตาม

Line attenuation


ค่านี้เป็นค่าที่เกี่ยวกับความยาวของสายสัญญาณที่ลากมาจากตู้ที่ติดตั้งอุปกรณ์แยกสัญญาณ ซึ่งยิ่งน้อยก็คือยิ่งดี (กลับกันกับ SNR นะครับ) ซึ่งสื่ออย่างสายทองแดงก็มีความต้านทานภายในอยู่เช่นกัน ปกติแล้วความยาวสูงสุดที่ผู้ให้บริการจะอนุญาติให้ใช้บริการ ADSL ได้นั่นก็คือประมาณ 5 กิโลเมตร (แต่ก็แล้วแต่ผู้ให้บริการซึ่งบางทีค่าตรงนี้ก็อาจลดลงได้) นอกจากนี้ยังมีเรื่องของสภาพอากาศที่ทำให้ค่าตรงนี้ลดลงได้เช่นทองแดงมีการขยายตัวเมื่อโดนความร้อน ค่านี้เป็นค่านึงที่สำคัญในการเลือกความเร็วที่เราจะสามารถใช้ได้ และเป็นเหตุผลนึงที่ว่าทำไมคุณภาพของ ADSL จึงขึ้นอยู่กับระยะทางจากตู้แยกสัญญาณ งานนี้ใครอยู่ใกล้ๆ ค่านี้ก็จะน้อยและสามารถเลือกใช้ความเร็วได้สูงกว่านั่นเอง สำหรับตารางความสัมพันธ์ของค่านี้กับระยะทางและความเร็วสูงสุด (ในทางทฤษฏี) ก็มีดังนี้ครับ

กราฟแสดงความสัมพันธ์ของความเร็วสูงสุดต่อค่า line attenuation

นอกจากนี้ยังมีค่าอื่นๆ อีกมากมายที่มีแฝงอยู่เบื้องหลังค่าสองตัวนี้แต่จริงๆ สำหรับผู้ใช้งานทั่วไปก็ไม่ได้สำคัญมากมายนัก ดูเพียงค่าสองตัวนี้ก็ถือว่าเพียงพอแล้วละครับ สำหรับวิธีการทำให้ค่าเหล่านี้ดีขึ้นมีหลายวิธี อย่างแรกเลยคือการเช็คจุดต่อสัญญาณภายในบ้านว่า

  • ทำการต่อไว้ถูกต้องหรือไม่
  • มีการลากผ่านสายไฟบ้างหรือเปล่า ถึงสายเหล่านี้จะเป็นสายคู่ตีเกลียวเพื่อลดสัญญาณรบกวนอยู่แล้ว แต่ก็อาจจะมีผลบ้างเช่นกันตามคุณภาพสายโทรศัพท์
  • สายที่ใช้เก่าแล้วหรือยัง

นอกจากนี้คือเราต้องเช็คกับทางผู้ให้บริการอีกทางหนึ่งเพื่อทำการเปลี่ยนสายโทรศัพท์ภายนอก ในกรณีที่สายนั้นใช้มานานแล้วครับก็อาจจะได้คุณภาพสายสัญญาณที่ดีขึ้น ในกรณีที่หากเราใช้ความเร็วสูงๆ แล้วเจอปัญหาหลุดบ่อยๆ หรือสัญญาณขาดๆ หายๆ ก็อาจต้องแจ้งให้ผู้บริการนั้นลดความเร็วสูงสุดลงเพื่อลดโอกาสการเกิดสัญญาณรบกวนลง

หวังว่าบทความนี้คงให้ความรู้กันบ้างไม่มากก็น้อย ใครมีความคิดเห็นอย่างไรหรือสงสัยตรงจุดก็สามารถ comment ได้ด้านล่างครับผม

One Reply to “ปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพในการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต”

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *