เลือก mainboard ยังไงให้เข้ากับ cpu และการใช้งาน

Mainboard เป็นอุปกรณ์ที่สำคัญมากชิ้นหนึ่งบนคอมพิวเตอร์ของเรา เพราะหน้าที่ของ mainboard นั้นคือทำหน้าที่เป็นแผงวงจรหลักที่อุปกรณ์ชิ้นอื่นๆ จะทำงานร่วมกัน เรียกได้ว่าอุปกรณ์ทุกอย่างจะต้องเชื่อมต่อกับ mainboard เพื่อให้สามารถทำงานร่วมกันได้ หากอุปกรณ์อย่างเมนบอร์ดนั้นมีปัญหาหมายความว่าคอมพิวเตอร์อาจจะมีอาการรวน หรือบูทไม่ติดเลยก็เป็นไปได้เช่นกัน

ผู้ผลิต mainboard ชั้นนำที่เราพบเห็นกันได้บ่อยๆ
mainboard ในท้องตลาดนั้นมีหลายรุ่นหลายระดับเต็มไปหมดเรียกได้ว่าเลือกกันไม่หวาดไม่ไหว เพราะแต่ละค่ายก็ออกโมเดลมาเพื่อให้ตอบสนองกับการใช้งานของเราโดยแต่ละรุ่นจะแตกต่างกันมากน้อยแค่่ไหนก็แล้วแต่ผู้ผลิตจะทำออกมา แต่สิ่งที่เราต้องคำนึงในการเลือกซื้อ mainboard นั่นก็ได้แก่
Socket CPU ของอินเทลที่ถือว่าเป็นรุ่นใหม่ล่าสุดในตอนนี้ (ซ้าย LGA 2011 ขวา LGA 1150)

1. ประเภทของ CPU ที่เราจะใช้

CPU หรือหน่วยประมวลผลหลัก ปัจจุบันมีอยู่สองค่ายคือ AMD และ Intel โดยทั้งสองค่ายนั้นก็จะแยกย่อยออกไปอีกเป็นตระกูลเช่น Intel ก็อาจจะมี i3, i5, i7 หรือ AMD ก็อาจจะมีตระกูล FX ขึ้นต้น นั่นอาจจะไม่ได้สำคัญมากมายนัก แต่สิ่งที่เราต้องคำนึงเป็นพิเศษคือประเภท socket ที่ใช้ ปกติหากเราไปดูตามร้านคอมพิวเตอร์และหยิบใบรายชื่อสินค้าพร้อมราคามาดูทางร้านจะแยกประเภทของ socket ออกมาให้อยู่แล้ว ฉะนั้นเราจำเป็นต้องเลือก socket ของ cpu และ mainboard ให้เหมือนกันมิฉะนั้นจะไม่สามารถใช้ร่วมกันได้
Socket ของทาง AMD ที่ถือว่าเป็นรุ่นล่าสุดในตอนนี้ (ซ้าย AM3+, ขวา FM2)

เรื่องของบัสแรม (หรือความเร็ว) นั้นไม่ใช่ประเด็นใหญ่โตนัก เพราะหากแรมเรามีความเร็วสูงกว่าที่เมนบอร์ดจะรับได้ ตัว mainboard เองก็จะลดระดับลงมาให้โดยอัตโนมัติ

2. ลูกเล่นการใช้งานที่เราต้องการ


สำหรับผู้ใช้งานทั่วไปพิมพ์งานเล่นเกมเล็กๆ น้อยๆ เมนบอร์ดราคาไม่แพงก็ถือว่าเพียงพอกับการใช้งานแล้ว แต่ผู้ผลิตเมนบอร์ดมักจะหาเรื่องให้เราจ่ายเงินเพิ่มอยู่เสมอโดยบางครั้งอาจจะไม่ได้จำเป็นเท่าไหร่นัก โดยเราควรเลือกเมนบอร์ดที่มีลูกเล่นเหมาะสม ปัจจุบันเมนบอร์ดจะแบ่งประเภทออกมาได้คร่าวๆ ดังนี้
ASUS H81M-E mainboard สำหรับ CPU Intel LGA 1150 ราคาประหยัดจากทาง ASUS (ราคาไม่เกิน 2100 บาท)

2.1 บอร์ดราคาไม่แพง ที่เน้นการใช้งานเบื้องต้น รูปร่างไม่ได้สวยงามมากมายนัก อุปกรณ์บนบอร์ดใช้แบบธรรมดาที่ถือว่าทำงานทั่วไปได้ ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อการใช้งานนอกเหนือจากปกติ
"Asrock 990FX Extreme 3" Mainboard รองรับ AMD AM3+ ที่ถือว่ามาพร้อมกับลูกเล่นครบครันและราคาอยู่ในระดับกลาง

2.2 เมนบอร์ดระดับกลาง ที่มีรูปร่างสวยงาม พอร์ทเชื่อมต่อต่างๆ ที่อาจจะมีมากขึ้นตามความต้องการของผู้ใช้ เช่นเมนบอร์ดหลายรุ่นอาจจะให้พอร์ท USB และ SATA มาเป็นจำนวนมาก หรือมีลูกเล่นสำหรับการ overclock สะดวกสบายยิ่งขึ้นเช่นปุ่มเปิดและรีเซ็ทเครื่องบนเมนบอร์ดโดยตรง
ASUS Rampage IV Formula (Socket LGA 2011) ถือว่าเป็น Mainboard ระดับบนที่่ราคาสูงไปถึง 12000 บาท)

2.3 เมนบอร์ดระดับบน ที่ถือว่าราคาเกิน 7000 บาทขึ้นไป mainboard เหล่านี้จะมาพร้อมลูกเล่นมากมาย อุปกรณ์นั้นมีการคัดเกรดมาเป็นอย่างดีเช่นภาคจ่ายไฟที่สามารถจ่ายไฟได้สูง (สำหรับนัก overclock) ทำให้สามารถทนทานกระแสได้มากและสามารถจ่ายไฟได้นิ่งผ่านวงจรควบคุมไฟแบบดิจิตอล ทำให้ระบบมีความเสถียรสูงจอไม่ฟ้าไม่ค้าง mainboard แบบนี้จะมีราคาสูงมากและรูปร่างสวยงาม แต่ก็แลกมาด้วยความมั่นใจชนิดจัดเต็ม สามารถเอาไป overclock ได้แบบสบายๆ

การเลือกหา mainboard ให้เหมาะกับเรานั้นนอกจาก socket ต้องตรงกับ cpu แล้วก็ควรมองด้านการใช้งานที่ต้องการประกอบด้วย หากเราไม่ได้ซีเรียสเรื่องการใช้งานมากมายนัก เมนบอร์ดราคาเพียง 2-3 พันบาทก็ถือว่าเพียงพอแล้ว หากระดับสูงกว่านั้นจะเหมาะกับผู้ที่นิยมแต่งคอมพิวเตอร์หรืองัดแงะเอาพลังของซีพียูมาใช้งานเพิ่มจากการ overclock เสียมากกว่า ฉะนั้นบางครั้งเราอาจเสียเงินเปล่าๆ หากเราไมได้คาดหวังที่จะใช้ลูกเล่นเหล่านั้นเลยตลอดอายุการใช้งานของเรา

3. ขนาด mainboard ต้องสัมพันธ์กับเคสที่เรามี

ขนาด mainboard ตามลักษณะ Form Factor แบบต่างๆ

mainboard ปัจจุบันมีหลายขนาดหลาย form factor มาก แต่ที่เราเห็นคือจะมี ATX, mATX, iTX โดยเรียงจากขนาดใหญ่สุดไปหาเล็ก โดยสิ่งที่เราต้องระวังคือ mainboard แบบ ATX ที่อาจจะไม่เหมาะกับเคสที่เรามีอยู่และอาจจะคับแคบเกินไป หากเราเลือก mainboard ขนาดใหญ่เกินไปไม่เข้ากับเคสที่เรามี ผลเสียน้อยที่สุดคือ การระบายอากาศไม่สะดวก เลวร้ายสุดคืออาจจะใส่ในเคสไม่ได้เลย ฉะนั้นหากเราอยากจะเลือก mainboard ATX มาใช้ ควรจะพิจารณาเคสที่เรามีอยู่ด้วยว่าใส่ได้หรือไม่ อาจจะเทียบขนาดจากสเปค (มักจะมีขนาดกว้าง ยาว บอกอยู่แล้ว) และไปวัดเอาคร่าวๆ จากเคสที่เรามีก่อนเพื่อความมั่นใจ

4. การรับประกันและผู้ให้บริการ


เรื่องนี้ในเมืองไทยนั้นมองข้ามแทบไม่ได้เลย เพราะการจำหน่ายสินค้าไอทีส่วนมากจะต้องผ่านตัวแทนจำหน่าย ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับมอบหมายมาจากทางบริษัทแม่อีกที ฉะนั้น mainboard ส่วนมากในท้องตลาดเราจะไม่สามารถเคลมได้กับบริษัทแม่โดยตรง จะต้องผ่านบริษัทเหล่านี้ และสิ่งที่ต้องเอามาพิจารณาคือการให้บริการว่ามีคุณภาพเพียงใด ปัญหาคือเราจะรู้ได้อย่างไรว่าบริษัทนั้นดีหรือไม่ดี งานนี้อาจจะต้องค้นคว้าข้อมูลกันเองสักนิดตามอินเตอร์เน็ต และสิ่งที่คนอยู่ต่างจังหวัดอาจจะมองข้ามไปไม่ได้คือหากจังหวัดเรามีตัวแทนจำหน่ายของ mainboard ยี่ห้อนั้นๆ ตั้งอยู่ด้วยจะมีความสะดวกมากกว่าในการรับบริการหากสินค้ามีปัญหา ซึ่งปกติแล้วเราควรเคลมสินค้ากับผู้แทนจำหน่ายโดยตรงมากกว่าผ่านร้านที่เราซื้อ เหตุผลเพราะความรวดเร็วนั่นเอง เนื่องจากร้านส่วนมากแล้วหากพ้น 7 วัน (หลายร้านมีระยะเวลาเท่านี้) เราส่งของไปให้ร้าน เขาก็ต้องส่งตัวแทนอีกต่อหนึ่งอยู่ดี การลัดขั้นตอนไปเคลมกับตัวแทนโดยตรงจะรวดเร็วกว่า

แล้วจะเลือก mainboard ยี่ห้อไหนดี ?


ไม่มีคำตอบที่ตายตัว อยู่ที่ความชอบส่วนบุคคลมากกว่า ปัจจุบัน mainboard ถือว่าไม่ได้มีคุณภาพแตกต่างกันมากมายนัก เพราะแต่ละยี่ห้อก็จะมีรุ่นที่แยกตามระดับการใช้งานเหมือนที่ผมเอ่ยไปด้านบนอยู่แล้ว ฉะนั้นควรเลือกให้ถูกกับการใช้งานจึงจะคุ้มค่าเงินมากที่สุด แต่หากจะว่าไปแล้ว (ในความคิดส่วนตัวของผม) เมนบอร์ดที่ราคาไม่แพงและประสิทธิภาพดีมียี่ห้อหนึ่งที่โดดเด่นมากในเมืองไทยนั่นคือ Asrock ที่ผลิตบอร์ดคุณภาพดีออกมาในราคาที่ไม่แพง รวมถึงได้ภาคจ่ายไฟที่มีประสิทธิภาพด้วย แต่รวมๆ แล้วยี่ห้ออื่นก็ไม่ได้แย่มากมายนัก

รวมๆ การเลือก mainboard นั้นไม่ได้ยากอย่างที่คิด หวังว่าบทความที่ผมเขียนแบบมึนๆ นี้น่าจะพอมีประโยชน์กันบ้างครับ สงสัยจุดใดก็สามารถแนะนำกันเข้ามาได้

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *