วิธีเลือกซื้อจอคอมพิวเตอร์ และความหมายของค่าต่างๆ ที่ควรรู้

สมัยนี้จอคอมพิวเตอร์มีราคาถูกลงมากๆ ราคาเพียงแค่ไม่กี่พันบาทก็สามารถซื้อจอดีๆ มาใช้งานได้แล้ว ซึ่งแน่นอนว่านอกจากรูปลักษณ์ภายนอกแล้ว ยังมีสเปคที่อยู่ตามโบรชัวร์ต่างๆ อีกมากมายที่เราอาจจะไม่รู้จักกันจริงๆ ว่ามันคืออะไร และมีความสัมพันธ์กันอย่างไรในโลกแห่งความเป็นจริง บทความนี้ผมตั้งใจเขียนเพื่อที่จะนำค่า parameter ต่างๆ ที่เราพบเจอกันในการเลือกซื้อจอคอมพิวเตอร์ หรือแม้แต่โทรทัศน์ก็สามารถนำไปอ้างอิงได้ครับ

 

1. Resolution

เรื่อง นี้ใครๆ ก็รู้กันอยู่แล้ว นั่น Resolution จอคอมคือความละเอียดของจอ เช่น 1920*1080 หมายความว่าพิกเซลในด้านแนวยาวของจอมีจำนวน 1920 จุด ส่วนอีกตัวคือด้านกว้าง (แนวตั้ง) นั่นเอง ปัจจุบันมาตรฐานจะอยู่ที่ความละเอียด Full HD (1920*1080) นั่นเองเพราะสามารถแสดงผลหนังความละเอียดสูงได้แบบเต็มจอพอดี และสิ่งที่กำลังเข้ามาก็คือความละเอียด 1440p ที่ขณะนี้จอก็ถือว่ายังมีราคาค่อนข้างแพงและไม่รู้ว่าจะลงมาเมื่อไหร่เหมือนกัน

การมีค่าความละเอียดที่สูง หมายความว่าเราจะได้พื้นที่ทำงานที่มากขึ้น แต่เรามักจะคิดกันว่าขนาดจอที่ใหญ่ (หน่วยเป็นนิ้ว เช่น 19, 21, 24 เป็นต้น)  โดยเข้าใจจอที่ใหญ่จะต้องมีความละเอียดที่สูงกว่าจอเล็ก ซึ่งมันก็ไม่ได้จริงเสมอไป เพราะบางครั้งแม้ว่าจะใช้จอขนาด 27 นิ้ว ซึ่งความละเอียดควรจะเกินระดับ 1080p ขึ้นไป แต่กลับกลายเป็นว่าความละเอียดก็ยังเท่าเดิมก็มี ซึ่งสิ่งที่มีผลต่อเรื่องเหล่านี้ก็คือ Pixel Density ที่ผมกำลังจะกล่าวถึง

 

 

2. Pixel Density

ค่านี้เราไม่ค่อยเห็นกันเท่าไหร่เพราะไม่ค่อยมีผู้ผลิตจอเจ้าไหนเอามาเป็นจุด ขาย ความหมายของ Pixel Density คือ “ความหนาแน่นของจำนวนพิกเซล” มักมีหน่วยเป็น Pixel per Inch (PPI) ซึ่งเราอาจจะพอเห็นกันบ้างตามโบรชัวร์ของโทรศัพท์มือถือที่พยายามจะใส่พิก เซลจำนวนมากลงไปในจอที่มีขนาดจำกัด เพราะหากจอตัวนั้นมีจำนวน Pixel Density ที่สูงหมายความว่าเราจะได้ภาพที่นวลตาและละเอียดมากขึ้นกว่าจอที่มีค่าต่ำเนื่องจากเราไม่สามารถสังเกตเห็นจุด pixel บนหน้าจอได้ง่ายๆ นั่นเอง

ลักษณะของพิกเซลบนจอแต่ละรูปแบบ ที่เรามองกันแทบไม่เห็น

มีศัพท์อีกคำคือ Dot Pitch หมายถึงขนาดของพิกเซลบนหน้าจอตัวนั้นครับ ยิ่งเล็กก็ถือว่ายิ่งดีและผลิตออกมาได้ยากกว่าครับ ปัจจุบันเราเริ่มเห็นจอแบบนี้กันบ้างแล้วในผลิตภัณฑ์ของ Apple อย่าง Macbook Pro ที่่มาพร้อมกับหน้าจอขนาดไม่ใหญ่ แต่ได้พื้นที่ทำงานมากเนื่องจาก Pixel Density สูง จึงได้ Resolution สูงไปด้วย

จอภาพสามสัดส่วน และผลของ Black Bar (แถบดำ) ที่เกิดขึ้นในจอภาพแต่ละแบบ เกิดจากต้นฉบับที่มีส่วนแตกต่างกัน

3. Aspect Ratio

Aspect Ratio คืออัตราส่วนหน้าจอ โดยค่านี้ได้มาจากความละเอียดของจอนั่นเอง โดยปัจจุบันจอมาตรฐานไวด์สกรีนอย่าง Full HD (1920*1080) นั้นมีอัตราส่วนหน้าจออยู่ที่ 16:9 (120*16, 120*9) เพื่อรองรับการดูหนังตามมาตรฐานของจอทีวีนั่นเอง แต่มาตรฐานเก่าๆ อย่าง 4:3 (หน้าจอทีวีเก่าๆ ที่ไม่ใช่ไวด์สกรีน) ก็ยังมีให้ใช้งานกันอยู่บ้าง รวมถึงอัตราส่วนอีกแบบที่เหมาะกับการทำงานมากกว่าอย่าง 16:10 ก็ถือว่าได้รับความนิยมอยู่ระดับนึงสำหรับผู้ที่อยากได้พื้นที่ด้านแนวตั้ง มากขึ้น แต่จอเหล่านี้นับวันราคาจะสูงกว่าจอแบบ 16:9 เนื่องจากไม่ค่อยมีผู้ผลิตออกมาเท่าไหร่แล้วทำให้ต้นทุนสูงกว่า

 

จอ 120Hz สามารถแสดงภาพเคลื่อนไหวได้ถี่และละเอียดกว่า 60Hz ทั่วไป

4. Refresh Rate

Refresh Rate คืออัตราการกระพริบของหน้าจอต่อ 1 วินาที มีหน่วยเป็น Hz (เฮิร์ทซ์) เมื่อก่อนช่วงยุค CRT หรือจอแบบหลอดแก้วรุ่นก่อนหน้า LCD ค่านี้ถือว่าเป็นค่าที่สำคัญมากตัวนึง เพราะการปรับค่าความละเอียดนั้นบางครั้งอาจทำให้ได้ค่า refresh rate ที่ไม่เท่ากัน โดยหากค่านี้ต่ำเกินไปเราอาจเกิดอาการเมื่อยล้าสายตาได้อย่างรวดเร็วเพราะ หน้าจอนั้นกระพริบไม่เร็วพอ แต่สำหรับยุคของจออย่าง LCD, LED นั้นปัญหาจอกระพริบได้หมดไป โดยมาตรฐานของจอทั่วไปนั้นอยู่ที่ 60 Hz แต่มีจอภาพบางรุ่นที่มีค่า refresh rate สูงกว่า 60 Hz โดยไปถึง 120 Hz เลยก็มีซึ่งจะเป็นจอที่ออกแบบมาสำหรับการเล่นเกมโดยเฉพาะ โดยค่านี้จะมีความสัมพันธ์กับจำนวน FPS (Frame Per Second) ที่สามารถแสดงผลได้ด้วยเช่นกันโดยค่าสูงสุดจะถูกจำกัดไว้ที่ refresh rate สูงสุดครับ (เวลาคุณใช้โปรแกรมวัดค่าเหล่านี้ ไม่ได้หมายความว่าคุณวัดได้ 120 fps แต่คุณจะเห็นภาพบนจอที่ 120 fps นะครับ หากจอคุณมี refresh rate แค่ 60 Hz ก็จะสามารถแสดงผลได้ที่ 60 fps เท่านั้น โดยมันจะถูกจำกัดและจัดการโดยฟังก์ชั่น v-sync ของการ์ดจออีกทีนึง)

 

 

5. Response Time

Response Time คือความเร็วในการเปลี่ยนเม็ดสีของ pixel แต่ละเม็ดบนหน้าจอ lcd, led มีหน่วยเป็น ms (millisecond) โดยหากค่านี้ยิ่งต่ำยิ่งดี หมายความว่าโอกาสที่เราจะได้เห็นภาพเบลอเวลามีการเคลื่อนไหวของภาพบนหน้าจอ เร็วๆ จะน้อยลง (อาการภาพเบลอนี้เรียกว่า Ghosting) โดยจอรุ่นใหม่ๆ ในปัจจุบันนี้พบปัญหาเหล่านี้น้อยลงจนแทบจะสังเกตไม่ได้แล้ว โดยค่านี้หากเหลือเพียงแค่หลักหน่วยก็สบายใจได้ว่าจอภาพของคุณแทบจะไม่มีอา การเบลอนี้ให้เห็นแน่นอน

 

อาการ Ghosting ของหน้าจอ Monitor ปรากฎให้เห็นเมื่อมีการเคลื่อนไหวของภาพอย่างรวดเร็ว

โดย ค่า Response Time นั้นหากเป็นแบบ gtg (Gray to Gray) มักจะได้ค่าที่ต่ำกว่าค่าแบบ btw (Black to White) ที่ปกติแล้วการตอบสนองจะช้ากว่า ฉะนั้นหากเราซีเรียสมากๆ ก็ต้องดูกันสักหน่อยว่าค่าที่เขาเอามาโชว์นั้นเป็นค่าแบบไหน แต่ปกติเขาจะไม่ค่อยบอกกันหรอกครับซึ่งเราก็พอคาดเดากันได้ว่าจอ 99% ที่เอามาโฆษณาเนี่ยเป็นค่าแบบ gtg แทบทั้งสิ้น (ก็ค่ามันได้ต่ำกว่า และดูดีกว่านั่นเอง)

"ดำไม่มิด ขาวไม่สว่าง" คืออาการของจอภาพที่ไม่มีคุณภาพและ Contrast Ratio ต่ำ

6. Contrast Ratio

 

Contrast Ratio อัตรา ค่าความสว่างระหว่างสีดำและสีขาว ยิ่งมากยิ่งดี เนื่องจากจะสามารถแสดงสีดำได้เป็นสีดำมากกว่าจอที่มีค่าน้อยกว่า ต้องเข้าใจว่าจอภาพ lcd ยุคแรกๆ นั้นมีปัญหาในการแสดงสีดำ ทำให้สีดำนั้นมันไม่ “ดำสนิท” จริงๆ แบบจอภาพรุ่นเก่าที่เราเคยใช้กัน ทำให้เป็นปัญหาโลกแตกในวงการอยู่พักใหญ่ (โดยเฉพาะผู้ที่นิยมดูหนังและซื้อจอไปไว้ในห้อง Home Theater) สำหรับผมยุคนี้ไม่ค่อยซีเรียสกับค่านี้เท่าไหร่นักเพราะจอใหม่ๆ บอกตามตรงดูไม่ค่อยออกแล้วละว่าสีดำมันไม่ดำ ฮ่าๆ

 

 

7. Viewing Angle

 

Viewing Angle คือองศาในการมองภาพ ต้องบอกว่ายุคเก่าๆ นั้นมุมมองในการมองถือว่าเป็นปัญหามากสำหรับคนที่เปลี่ยนมาใช้จอภาพประเภท LCD เนื่องจากมันเป็นการบังคับทางอ้อมให้นั่งตรงและขนานกับหน้าจอตลอดเวลา มิฉะนั้นเราจะไม่สามารถมองเห็นพิกเซลบนหน้าจอได้แบบเต็มๆ ส่งผลทำให้ภาพมืดลงหรืออาจจะสว่างจนเห็นเป็นภาพขาวๆ ไปเลย หน่วยนี้มีค่าเป็นเปอร์เซ็นต์ บอกทั้งองศาในการมองทั้งแนวตั้ง และแนวนอน

Viewing Angle มีผลต่อภาพที่ได้ขณะมองผ่านมุมที่ต่างกัน

โชคดี (อีกแล้ว) ที่จอปัจจุบันไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องนี้เท่าไหร่ โดยเฉพาะในแนวนอนที่เรียกว่าการดูหนังพร้อมกันหลายๆ คนไม่ใช่อุปสรรคอีกต่อไป แต่แนวตั้งนี่ก็ต้องดูเป็นตัวๆ ไป รวมๆ เลือกตัวที่มีองศาการมองเยอะๆ ไว้จะดีที่สุด ชนิดของ panel ก็มีผลต่อองศาการมองด้วยนะ (อ่านได้ด้านล่าง)

ขอบเขตสี ยิ่งกว้าง ก็ยิ่งแสดงผลได้ครบถ้วนไม่ขาดตกบกพร่องตามไปด้วย

8. Color Gamut

Color Gamut คือขอบเขตของสีบนหน้าจอที่สามารถแสดงผลได้ ซึ่งหมายถึงสีสันและความอิ่มของสีที่มากขึ้น (จนบางครั้งอาจจะมากเกินไป) มีหน่วยเป็นเปอร์เซ็น จอแต่ละตัวในท้องตลาดนั้นจะไม่ได้มีค่านี้ที่แตกต่างกันมากนัก โดยส่วนใหญ่จอสำหรับผู้ใช้งานทั่วไปจะมีค่า Gamut อยู่ที่ประมาณ 72% และสำหรับจอที่มีคุณภาพดีหน่อยก็อาจจะอยู่ที่ 92% หรือมากกว่า สำหรับค่านี้ไม่ค่อยมีบอกในใบสเปคเท่าไหร่ซึ่งคนส่วนมากก็ไม่ค่อยใส่ใจกัน ยกเว้นจะเป็นคนที่ทำงานในวงการกราฟิกหรือต้องการใช้สีที่ตรงเด๊ะๆ ซึ่งเรื่องจอสีไม่ครบและการ calibrate ที่ไม่ดีอาจส่งผลต่องานระดับคอขาดบาดตาย

จอภาพที่ Color Gamut ไม่เท่ากัน มีผลต่อการแสดงสีแบบไล่เฉดด้วย

โดยจอที่ Color Gamut ต่ำนั้นหมายความว่าจะไม่สามารถแสดงสีได้กว้างมากพอ บางครั้งจนอาจเกิดอาการแถบสีเป็นปื้นๆ เวลาเราไล่โทนสี สำหรับคนปกติทั่วไปที่ไม่ซีเรียสมาก ก็มองข้ามค่านี้ไปได้เลยเพราะจอที่ท่านมีอยู่หรือจะซื้อนั้นสามารถแสดงสีได้ ครบถ้วนระดับนึงอยู่แล้ว ซึ่งจอที่มีค่าสีเที่ยงตรงมากๆ ราคาก็จะสูงกว่าจอแบบปกติหลายเท่าตัวครับ

 

Monitor Input

9. Input

ก็คือช่องรับสัญญาณหลังจอ จอเดี๋ยวนี้สามารถรับสัญญาณได้หลากหลายรูปแบบ ส่วนมากจอที่ราคาไม่ได้สูงมากอาจจะรับได้แค่แบบหรือสองแบบ (DVI+VGA, DVI+HDMI) แต่จอที่มีราคาสูงสักหน่อยอาจจะรับได้มากกว่านั้น

 พอร์ทที่มักพบเห็นได้ทั่วไปก็เช่น

 – VGA อันนี้อยู่กันมาตั้งแต่สมัยไหน ใครๆ ก็รู้จักกันดี เราพบพอร์ทนี้ได้ในจอที่ความละเอียดไม่สูงมากนัก เนื่องจากการส่งสัญญาณเป็นแบบอนาล็อก หากเราใช้ที่ความละเอียดสูงมากๆ อาจพบปัญหาภาพแตกหรือมีเส้นรบกวน

DVI เป็นพอร์ทที่เริ่มส่งสัญญาณเป็นดิจิตอล ทำให้ได้ภาพที่ไร้สัญญาณรบกวน และรองรับความละเอียดได้สูงขึ้น เป็นพอร์ทที่นิยมต่อกันมากที่สุดและติดมากับจอรุ่นใหม่ๆ แทบทุกตัว

HDMI คือมาตรฐานที่ลามมาจากโทรทัศน์ ในเชิงเทคนิคแล้วมันก็คือพอร์ท DVI ที่มีการรวมสัญญาณเสียงเข้ามาด้วยนั่นเอง (แต่จอส่วนมากไม่มีลำโพงให้นะ ฮ่าๆ) ข้อดีคือสายเคเบิ้ลเล็กนิดเดียวไม่เกะกะรุงรัง

ภาพจาก http://commons.wikimedia.org/wiki/File:DisplayPort_%28connector%29.PNG

DisplayPort คืออีกพอร์ทที่เป็นน้องใหม่ ข้อดีคือรองรับความละเอียดได้สูงเช่นกันถือว่าเป็นคู่แข่งกับ HDMI ที่ขับเคี่ยวกันมาโดยตลอด แต่ดูเหมือนจะเหมาะกับการใช้งานบนคอมพิวเตอร์มากกว่า

 มาตรฐานของพอร์ทเหล่านี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรกันบ่อยนัก เพราะแต่ละพอร์ทก็มีการพัฒนาเป็นเวอร์ชั่นๆ ต่อไปเรื่อยๆ

 

นอกจากนี้ยังมีเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับจอที่น่าพิจารณาเพิ่มเติมอีก เช่นเรื่องของชนิด Panel จอที่รู้ไว้ก็ไม่เสียหายอะไร

Panel ของจอ
  1. TN (Twisted Nematic) เป็นจอที่เราพบเห็นกันบ่อยที่สุด จอราคาถูกๆ แทบทุกตัวจะใช้ panel แบบนี้แทบทั้งนั้น ข้อดีคือ ราคาถูก ผลิตง่าย response time ต่ำที่สุดและให้คุณภาพในระดับที่คนทั่วไปไม่มีปัญหากับมัน ข้อเสียคือ สีไม่ครบถ้วนเท่าแบบอื่นๆ (Color Gamut แคบ) และอาจมีปัญหาเรื่ององศาการมอง
  2. PV (Patterned Vertical) เป็นจอที่พัฒนาขึ้นมาอีกระดับทำให้สามารถแสดงสีได้ครบถ้วนกว่าจอ TN เหมาะกับคอกราฟิกที่งบไม่ถึงจอ IPS และอยากได้จอคุณภาพดี ข้อดีนั้นดีกว่า TN แทบทุกอย่างยกเว้นเรื่อง response time ที่มากกว่าอย่างเห็นได้ชัดทำให้เสียเปรียบจอแบบ TN เรื่อง Ghosting
  3. IPS (In-Plane Switching) เป็นจอที่หลายคนอยากได้มาใช้งาน เนื่องจากสีสันที่ครบถ้วนที่สุดในบรรดาจอทั้งหมด รวมถึงมี contrast ที่ดีเยี่ยม สีสันสดใส และเหมาะกับการทำงานกราฟิกที่สุด ข้อเสียคือมันแพงที่สุดในบรรดาจอภาพทั้งหมดที่ยกตัวอย่างมา รวมถึงมี response time ที่สูงกว่าใครเพื่อน ถ้าจะซื้อมาเล่นเกมเร็วๆ อาจต้องทำใจกันสักนิด

เรื่องคร่าวๆ ของจอ Monitor คาดว่าน่าจะครบถ้วนพอสมควรนะครับ ไว้มีข้อมูลอะไรจะมาเรียบเรียงต่อไป เพราะในแต่ละหัวข้อนั้นสามารถลงลึกเข้าไปได้อีกเยอะเลยล่ะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *